ขาขึ้น-ขาลงเป็นเรื่องปกติในแวดวงธุรกิจ โดยทุก ๆ ปีมีบริษัทที่พุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดและทรุดสู่ขาลงจนกระทั่งล้มหายตายจากมากมาย ขณะเดียวก็มีบริษัทอีกกลุ่มที่ต้องเปลี่ยนสถานะไปอยู่ใต้ชายคาบริษัทอื่นเพื่อความอยู่รอด

ความน่าสนใจในบริษัทกลุ่มหลังจะเพิ่มอีกทวีคูณหากเคยเป็นยักษ์ใหญ่ของวงการมาก่อน เช่น US Steel บริษัทเหล็กอายุเกินร้อยปี ซึ่งมีประวัติเชื่อมโยงกับทั้งการสร้างประเทศและการผงาดขึ้นมหาอำนาจโลกของสหรัฐฯ ทว่าล่าสุดจำต้องขายกิจการให้ Nippon Steel คู่แข่งสัญชาติญี่ปุ่น

แอนดรูว์ คาร์เนกี้

US Steel ก่อตั้งเมื่อปี 1901 จากการควบรวมกิจการของบริษัทเหล็กของสหรัฐฯ 3 แห่งคือ Carnegie Steel, Elbert H. Federal Steel และ National Steel ผ่านการจับมือกันของ 2 มหาเศรษฐีสหรัฐฯ คือ แอนดรูว์ คาร์เนกี้

เจพี มอร์แกน

และ จอห์น เพียร์พอนต์ มอร์แกน (ที่เรียกอีกชื่อแบบกระชับซึ่งคนทั่วไปคุ้นกันว่า เจพี มอร์แกน)

จากทั้งมูลค่าและทุนจดทะเบียนของบริษัทสูงถึง 1,400 ล้านดอลลาร์ (ราว 49,200 ดอลลาร์ เทียบเท่ากับ 1.7 ล้านบาทในปัจจุบัน ) ทำให้ถือเป็นทั้งยักษ์เหล็กอันดับ 1 ของโลก และบริษัทมูลค่าสูงสุดในโลกด้วย

จากนั้น US Steel ก็ก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ เพราะส่งเหล็กให้รัฐบาลสหรัฐฯ พัฒนาประเทศ ทั้งสร้างตึกรามบ้านช่อง ขยายถนนหนทางและรางรถไฟ

พอถึงยุค 40 ซึ่งโลกเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัทที่สองมหาเศรษฐีจับมือกันแห่งนี้ก็ขึ้นสู่จุดสูงสุด เพราะเป็นบริษัทที่จัดส่งเหล็กรายใหญ่สุดให้กองทัพสหรัฐฯ ทำสงคราม ไล่ตั้งแต่รถยนต์ รถถัง เครื่องบิน

ไปจนถึงอาวุธและยุทธปัจจัย ซึ่งในภาพใหญ่ยังทำให้สหรัฐฯ ก้าวขึ้นเป็นอภิมหาอำนาจของโลกด้วย

ขาขึ้นของ US Steel ต่อเนื่องมาถึงยุค 50 เพราะเป็นบริษัทที่ส่งออกเหล็กรายใหญ่ไปเยอรมนีและญี่ปุ่นฟื้นฟูประเทศ ท่ามกลางอิทธิพลบริษัทอเมริกันที่แผ่ขยายไปทั่วโลก ทั้งด้านการทหาร เศรษฐกิจและวัฒนธรรม

แต่แล้วความแข็งแกร่งของ US Steel ก็มีอันต้องลดลง ไม่ต่างจากเหล็กกล้าที่ผุพังถูกสนิมกินไปเรื่อย ๆ

ยุค 70 เกิดวิกฤตอุตสาหกรรมเหล็กที่สืบเนื่องมาจากราคาน้ำมันแพง เพราะสงครามในตะวันออกกลางที่เรียกกันว่าศึกยมคิปปูร์ระหว่างอิสราเอลกับประเทศอาหรับและถูกซ้ำเติมจากวิกฤตเศรษฐกิจในยุค 80 อีก

จากนั้นสถานการณ์ของ US Steel ก็มีแต่ทรงกับทรุด จนปี 1991 ถูกถอดออกจาก 30 บริษัทอุตสาหกรรมใหญ่สุดของดัชนี Dowjones อีก โดยบริษัทที่เข้าไปแทนคือกลุ่มบริษัทบันเทิงกับข้อมูลข่าวสารอย่าง Disney และภาคการเงิน อย่าง JP Morgan and Co.

ณ จุดนี้มี 2 ประเด็นน่าสนใจแตกออกมา โดยประเด็นแรกคือ เป็นการย้ำว่าอุตสาหกรรมเหล็กและภาคการผลิตสหรัฐฯ ถูกลดความสำคัญลงไป สวนทางกับธุรกิจบันเทิง สื่อ และภาคการเงินที่ทวีความสำคัญขึ้นมา

ส่วนประเด็นที่ 2 คือตลกร้ายจากการที่หนึ่งในบริษัทที่ได้เข้าไปแทน US Steel คือ JP Morgan and Co. (ปัจจุบันเป็นบริษัทลูกของ JP Morgan Chase) ที่ก่อตั้งโดย เจพี มอร์แกน หนึ่งในสองผู้ก่อตั้ง US Steel นั่นเอง

สถานการณ์ของ US Steel ยังคงไม่ดีขึ้นเลย ซ้ำร้ายก็ไม่ปรับตัวอีก โดยว่ากันว่าโรงหลอมที่เป็นเทคโนโลยีเหล็กล้าสมัยจากยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 สวนทางกับบริษัทคู่แข่งจากญี่ปุ่นและเยอรมนีที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย ขณะที่จีนก็กำลังเร่งเครื่องขึ้นมา

ปี 2022 อุตสาหกรรมเหล็กโลกเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง โดย China Baowu Steel จากจีนขึ้นมายักษ์เหล็กอันดับ 1 ของโลก ด้วยกำลังการผลิตเหล็ก 131 ล้านตัน พร้อมนำบริษัทเหล็กเอเชียยึด 10 อันดับสูงสุด

ขณะที่ Nucor บริษัทเหล็กใหญ่สุดของสหรัฐฯ ทำได้แค่อันดับ 16 ส่วน US Steel ที่เคยยืนหนึ่งมานานตกยุคไปเรียบร้อย โดยหลุดไปอยู่ 24 ด้วยกำลังผลิตเพียง 16 ล้านตันเท่านั้น ท่ามกลางข่าวขายกิจการให้คู่แข่งทั้งในสหรัฐฯ และต่างประเทศ

ที่สุด 18 ธันวาคม US Steel ก็รับดีลซื้อกิจการมูลค่า 14,100 ล้านดอลลาร์ (ราว 493,000 ล้านบาท) จาก Nippon Steel คู่แข่งจากญี่ปุ่น ประเทศที่เคยส่งเหล็กไปให้ฟื้นฟูหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และบริษัทเหล็กใหญ่อันดับ 4 ของโลก

ฝ่ายหลังรับปากว่าจะปล่อยให้ US Steel ดำเนินกิจการได้ต่อไปภายใต้สถานะบริษัทลูก และยินดีเจรจากับสหภาพแรงงาน US Steel

ฝ่ายบริหาร US Steel เชื่อว่าดีลนี้จะทำให้บริษัทอยู่ต่อไปได้ และจะดีต่ออุตสาหกรรมเหล็กในสหรัฐฯ เพราะจะทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น แต่สหภาพแรงงาน US Steel ไม่เห็นด้วยและต้านดีลนี้ 

จากนี้ต้องติดตามต่อไปว่าดีลขายกิจการของ US Steel จะปิดลงได้ตามคาดไม่เกินไตรมาส 3 ปี 2024 หรือไม่ ซึ่งจะเป็นประเด็นในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปด้วย

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน

เพราะประธานาธิบดี โจ ไบเดน เคยรับปากว่าจะปกป้องอุตสาหกรรมและการจ้างงานในประเทศ/cnn, bbc, wikipedia, worldsteel



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online