ซอสต๊อด ทำไมขายดี ? วิเคราะห์กลยุทธ์ของซอสน้องใหม่ที่แบรนด์ใหญ่ยังต้องเหลียวมอง

สำหรับซอสเลิฟเวอร์อย่างคุณ ชื่อซอสต๊อด หรือ ซอส Made by Todd เป็นชื่อที่รู้จักดี ในฐานะ ซอสพริกพริก ที่มีรสชาติไม่เหมือนใคร

จุดกำเนิดของซอสต๊อดมาจาก ต๊อด ปิติ ภิรมย์ภักดี แห่งสิงห์ คอร์ปอเรชั่น ที่มีนิสัยส่วนตัว คือ ความหลงใหลด้านการทำอาหาร

เพราะความหลงใหลด้านอาหารในช่วงที่ต๊อดไปเรียนต่างประเทศ เขาได้เห็นซอสพริกศรีราชา ซึ่งเป็นชื่อของอำเภอหนึ่งในประเทศไทยวางจำหน่ายอยู่ในเชลฟ์ร้านค้าในต่างประเทศ

ซอสพริกศรีราชาขวดนั้นที่ต๊อดเห็นคือแรงบันดาลใจที่ทำให้ต๊อดต้องการทำซอสของตัวเอง ที่มีเอกลักษณ์และรสชาติแบบไทย ๆ ที่มีความเผ็ดออกจำหน่ายกับเขาบ้าง

ไม่เพียงแต่คิด เพราะในช่วงเวลาที่เหมาะสม ต๊อดสานต่อความคิดพัฒนาซอสของตัวเอง ด้วยการใช้ช่วงเวลา 2 ปี ในการพัฒนาสูตรซอสด้วยตัวเอง ก่อนที่จะจับมือกับเชฟ ชุมพล แจ้งไพร ร่วมปรับปรุงสูตรเพื่อหารสชาติของซอสที่ลงตัวยิ่งขึ้น จนเกิดซอสพริกพริกอเนกประสงค์ เป็นสินค้าสูตรแรกวางจำหน่ายกลางปี 2560 โดยใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า  ซอส Made by Todd และชื่อที่เรียกเล่น ๆ ว่าซอสต๊อด จดทะเบียนในชื่อบริษัท ฟาเธอร์ ออฟ ออล ซอส จำกัด

ช่วงเปิดตัว 2 เดือนแรก ต๊อดเคยให้ข่าวว่า เขาขายซอสต๊อดได้มากถึง 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดจำหน่ายทะลุเป้าหมายที่วางไว้พอสมควร จบปี 2560 มีรายได้ 12.54 ล้านบาท ปี 2561 มีรายได้ 23.80 ล้านบาท ส่วนปี 2562 ยังไม่มีข้อมูลรายได้ที่แจ้งกับกระทรวงพาณิชย์

การเติบโตของ ซอสต๊อด มาจากกลยุทธ์การตลาดจากคู่แข่งอื่น ที่ Marketeer มองว่าเป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจ 4 ประการ ประกอบด้วย

1. สร้างการรับรู้ผ่านชื่อต๊อด บนเซกเมนต์ใหม่ในตลาด

ซอสที่ต๊อดวางจำหน่ายสูตรแรก เป็นซอสอเนกประสงค์รสชาติเผ็ด สามารถรับประทานเป็นน้ำจิ้ม และนำมาปรุงรสได้ ซึ่งถือว่าเป็นของใหม่ เป็นเซกเมนต์ใหม่ในตลาดที่ไม่เคยมีมาก่อน

ความเป็นของใหม่ เป็นเซกเมนต์ใหม่ในตลาด จึงมีทั้งจุดเด่นและจุดด้วยในธุรกิจ

จุดเด่นคือ การไม่มีคู่แข่งหลักในตลาดที่มีซอสในรูปแบบเดียวกัน ทำให้ผู้ที่ชื่นชอบซอสรสชาติในรูปแบบนี้ต้องเลือกซื้อซอสต๊อดเพียงแบรนด์เดียวเท่านั้น

ส่วนจุดด้อยคือ ซอสต๊อดมีทั้งรสชาติและแบรนด์ที่ใหม่ในตลาด ซึ่งความใหม่นี้อาจทำให้หลายคนไม่กล้าที่จะซื้อมาทดลอง เพราะกลัวผิดหวังเรื่องรสชาติ จุดด้อยนี้เองการแจ้งเกิดในตลาดอย่างรวดเร็วจึงเป็นเรื่องที่ยาก

ต๊อด ปิติ จึงใช้กลยุทธ์ตั้งชื่อแบรนด์เป็นชื่อตัวเอง พร้อมโลโก้ที่เป็นภาพวาดหน้าตัวเอง เพื่อสร้าง Brand Awareness ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะชื่อต๊อด ปิติ เป็นชื่อที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักดี และการใช้หน้าตัวเองเป็นโลโก้ของแบรนด์เพื่อรับประกันว่าซอสที่เห็นอยู่ตรงหน้านี้ เป็นซอสของต๊อดจริง ๆ พร้อมรับประกันรสชาติที่ดีเพราะกล้าเอาหน้าเป็นประกัน

2. การตลาดบนโซเชียลมีเดียและโร้ดโชว์เป็นหลัก

ด้วยความเป็นแบรนด์ใหม่ที่มีเงินทุนไม่มาก เนื่องจากธุรกิจนี้ ต๊อด ปิติ ใช้เม็ดเงินในกระเป๋าตัวเองลงทุน

การตลาดของซอสต๊อดจึงใช้ 2 ช่องทางหลัก คือช่องทางโซเชียลมีเดีย และโร้ดโชว์

การโร้ดโชว์ในสถานที่ต่าง ๆ เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในธุรกิจซอสต๊อด จากการเป็นซอสใหม่ในตลาดที่ไม่มีใครรู้จักรสชาติและแบรนด์มาก่อน ซึ่งการเข้าไปแนะนำให้ทดลองชิม เพื่อรู้จักในรสชาติ และถ้าชอบก็สามารถซื้อติดมือกลับบ้านได้ทันที

ส่วนช่องทางโซเชียลมีเดีย ต๊อด ปิติ ใช้เฟซบุ๊กและไลน์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะคนเมืองรุ่นใหม่ที่กล้าลองสินค้าใหม่ ๆ

และการตลาดโซเชียลมีเดียมีต้นทุนที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับการโฆษณาผ่าน TVC แสะสามารถเลือก Target ได้

การใช้โซเชียลมีเดียของซอสต๊อดนอกจากเป็นช่องทางสร้าง Brand Awareness รวมถึงขยายฐานลูกค้าแล้ว ยังเป็นช่องทางหนึ่งในการจัดจำหน่ายอีกด้วย

ซึ่งช่องทาง TVC แม้เป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทั้งประเทศ แต่ด้วยกำลังการผลิตที่ยังต่ำในช่วงเริ่มแรก และการกระจายสินค้าที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้การใช้เม็ดเงินผ่าน TVC จึงเกินความจำเป็นกับช่องทางและสินค้าที่มีอยู่ เพราะถ้าลูกค้าเห็นสินค้าและอยากซื้อ แต่ไม่สามารถหาซื้อได้ โอกาสที่จะมองแบรนด์ในทางลบก็จะมากขึ้นตามมา

 

3. จำกัดช่องทางจำหน่ายเพื่อควบคุมราคา คุมต้นทุนได้ถึงขยายช่องทางต่อ

ช่วงแรกของธุรกิจ ต๊อด ปิติ เลือกบิสซิเนสโมเดลการขายผ่านช่องทางตัวแทนจำหน่าย และช่องทางของตัวเอง เช่น เฟซบุ๊กเพจ และไลน์ Made by Todd ช่องทางร้านอาหารที่เป็นธุรกิจของต๊อด ปิติ แทนการจำหน่ายผ่านโมเดิร์นเทรด ซูเปอร์มาร์เก็ต

การจำหน่ายผ่านช่องทางในรูปแบบนี้ในช่วงเริ่มต้นเพราะ ต๊อด ปิติ ต้องการควบคุมราคาจำหน่ายต่อขวดที่ไม่สูงเกินไป จากการผลิตที่ยังมีปริมาณไม่มาก ทำให้ต้นทุนต่อขวดยังสูง จาก Economy of Scale ยังไม่ถึงจุดที่คุ้มค่า เนื่องจากการนำสินค้าเข้าจำหน่ายในช่องทางโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ มีค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนแฝงอยู่ ทั้งค่าธรรมเนียมในการจำหน่าย และระยะรอบบิลในการเก็บเงิน

ซึ่งการไม่พึ่งพาช่องทางโมเดิร์นเทรด แม้จะสามารถเซฟต้นทุนในการจำหน่ายได้ แต่มีข้อเสียคือ การกระจายสินค้าที่ไม่ครอบคลุม ทำให้เสียโอกาสในการขายจากลูกค้าที่เคยทดลอง หรือเคยซื้อสินค้าไปรับประทาน และต้องการซื้อซ้ำเพราะติดใจ แต่เพราะหาซื้อยากทำให้ความถี่ในการซื้อของลูกค้ามีค่อนข้างต่ำกว่าดีมานด์จริง

ส่วนในปัจจุบัน ซอสต๊อดมีการขยายช่องทางจัดจำหน่ายไปยังโมเดิร์นเทรนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต อีมาร์เก็ตเพลส ตู้ Vending Machine จำหน่ายซอสต๊อดอัตโนมัติ และอื่น ๆ มากขึ้น จากการผลิตที่สามารถควบคุมต้นทุนได้ดีกว่าเดิม

4. ไม่ได้หยุดแค่ซอส

หลังจากซอสพริกพริกซึ่งเป็นสินค้าตัวแรกประสบความสำเร็จ ต๊อด ปิติ ต่อยอดความสำเร็จไปยังซอสอื่น ๆ ที่มีรสชาติแตกต่างจากคู่แข่ง เช่น ซอสมะเขือเทศรสเผ็ด ซอสผัดไทย น้ำจิ้มไก่ น้ำจิ้มซีฟู้ด รวมถึงขนมขบเคี้ยวที่มีซอสเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น หนังปลารสซอสต๊อด กล้วยทอดกรอบรสซอสต๊อด และอื่น ๆ

รวมถึงการขยายธุรกิจไปยังอาหารที่ปรุงจากซอสต๊อด เช่น อาหารแช่แข็งพร้อมรับประทาน ในรูปแบบ Ready to Eat เริ่มต้น 2 เมนูหลัก และการทำรถป๊อปอัพขายอาหาร Made by Todd Popup Restaurant ที่ La Villa Ari เพื่อสร้างรายได้และประสบการณ์ในการรับประทานอาหารรูปแบบใหม่ ๆ ที่ทำจากซอสต๊อด และตอกย้ำความอเนกประสงค์ของซอสที่สามารถทำอาหารได้หลากหลาย

5. แอปพลิเคชัน มัดรวมประสบการณ์ซอสเลิฟเวอร์ผลักดันยอดจำหน่าย

การทำธุรกิจของซอสต๊อด นอกจากการขายสินค้าแล้ว ต๊อด ปิติ ยังต่อยอดธุรกิจผ่านการสร้างประสบการณ์ที่หลากหลายในการทำอาหารด้วยซอสต๊อด ด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชัน Availabel ขึ้นมา เป็นช่องทางแนะนำสูตรอาหารที่มีซอสต๊อดเป็นหนึ่งในเครื่องปรุงรส เพื่อสร้างประสบการณ์ด้านอาหารและความถี่ในการนำซอสต๊อดประกอบอาหารมากขึ้น เพราะยิ่งใช้ซอสต๊อดมากเท่าไร โอกาสในการซื้อเพิ่มมีมากขึ้นเท่านั้น

และในแอปพลิเคชัน Availabel มีการแนะนำร้านอาหารที่ใช้สินค้าซอสต๊อดในการประกอบอาหาร เพื่อช่วยทำตลาดสร้างยอดขายให้กับร้านอาหารซึ่งเป็นลูกค้าที่มีการใช้ซอสจำนวนมากในแต่ละวัน และการแนะนำร้านอาหารนั้นใช้กิมมิกการตลาดสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการนำเชฟบุ๊ค บุญสมิทธิ์ เป็นผู้การันตีความอร่อยอีกด้วย

ทั้งนี้ ธุรกิจซอสต๊อดถือเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจที่เปลี่ยนจากความชอบเป็น Passion บนสินค้าที่เป็น Blue Ocean และกลยุทธ์การตลาดที่คอยโฟกัสธุรกิจจากสินค้าหลักที่มีอยู่ให้แข็งแรงก่อนที่จะต่อยอดไปยังสินค้าอื่น ๆ โดยเฉพาะสินค้าที่มีสินค้าหลักอย่างซอสพริกพริกเป็นส่วนประกอบเพื่อมัดรวมประสบการณ์ผู้บริโภคทั้งหมดเข้าด้วยกัน

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online