เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด (แม่สอด Special Economic Zones) ถือเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษนำร่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากที่สุดจากศักยภาพทางเศรษฐกิจและพรมแดนที่เชื่อมต่อกับเมียนมา เห็นได้จากความสำคัญเข้มข้นขึ้นของแม่สอดในฐานะด่านการค้าชายแดนที่มีสัดส่วนการส่งออกถึง 10% ของมูลค่าการส่งออกชายแดนทั้งหมดของไทยในปี 2557 เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับสัดส่วนเพียง 3.7% ในปี 2554

นอกจากนี้ การเริ่มโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 เพื่อข้ามแม่น้ำเมยอันเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างแม่สอดกับเมืองเมียวดีในฝั่งเมียนมา จะยิ่งเสริมสร้างศักยภาพของแม่สอด SEZ ในการเป็นศูนย์กลางการผลิต และกระจายสินค้าไปสู่เมียนมาต่อไปในอนาคต

ศักยภาพของแม่สอด SEZ มาจากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์เป็นสำคัญ ด้วยอาณาเขตกว่า 5,603 ไร่ ครอบคลุม 8 ตำบล ที่มีพรมแดนติดกับจังหวัดเมียวดี ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านที่สามารถเชื่อมต่อไปยังเมืองสำคัญของเมียนมาอย่างเมืองย่างกุ้ง ผ่านเส้นทางสายแม่สอด – เมียวดี – เชิงเขาตะนาวศรี – กอกะเร็ก – ผาอัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) ทำให้แม่สอด SEZ เอื้อประโยชน์ด้านภูมิศาสตร์สำหรับกิจการที่นำเข้าวัตถุดิบหรือส่งสินค้าไปจำหน่ายในเมียนมา

ตลอดจนกิจการที่ต้องการใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งได้รับการยกระดับให้สะดวกยิ่งขึ้นผ่านการผ่อนผันกฏเกณฑ์ด้านนโยบายแรงงานที่อนุญาตให้กิจการในแม่สอด SEZ สามารถใช้แรงงานแบบไป-กลับได้ จากเดิมที่กิจการที่ขอรับสิทธิในการส่งเสริมการลงทุนจะต้องผ่านขั้นตอนการขออนุญาตใช้แรงงานต่างด้าวที่ยุ่งยากและสิทธิในการใช้แรงงานต่างด้าวเป็นเพียงสิทธิชั่วคราวที่มีอายุเพียง 1 ปีต่อการขออนุญาต 1 ครั้ง

ทั้งนี้ ด้วยการจัดตั้งแม่สอดให้กลายเป็น SEZ ทำให้กิจการที่เปิดดำเนินงานในพื้นที่ดังกล่าวได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีในรูปแบบของการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลรวมไปถึงการยกเว้นอากรขาเข้าและค่าใช้จ่ายที่อนุญาตให้หักเพิ่มเติม (Double tax-deductible expense) รัฐบาลยังมีการจัดสรรที่ดินในแม่สอด SEZ สำหรับให้กิจการที่สนใจลงทุนสามารถเช่าที่ดินเปล่าจากกรมธนารักษ์ในอัตรา 36,000 บาทต่อไร่ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวก และประหยัดเวลาที่ใช้ในการจัดตั้งสถานประกอบการ สำหรับกิจการขนาดเล็กและขนาดกลางที่ใช้พื้นที่ในการดำเนินงานไม่มากนักสามารถเช่าที่ดินภายในนิคมอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมทางด้านสาธารณูปโภคในอัตรา 160,000 บาทต่อไร่ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินงานได้ในปี 2560

กิจการที่ได้ประโยชน์


กิจการที่ได้รับประโยชน์จากแม่สอด SEZ คงไม่พ้นกิจการดั้งเดิมที่ดำเนินงานอยู่ในพื้นที่แม่สอดตั้งแต่ก่อนการจัดตั้ง SEZ ครอบคลุมกิจการที่ใช้แรงงานเข้มข้นในการผลิต อาทิเช่น อุตสาหกรรมผลิตสิ่งทอ ฯลฯ ตลอดจนกิจการที่สามารถใช้ประโยชน์จากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่ใกล้แหล่งวัตถุดิบจากพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งในพื้นที่แม่สอดเองและเมียวดี อาทิเช่น กิจการแปรรูปสินค้าเกษตรขั้นพื้นฐาน

ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาของแม่สอด SEZ จะเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในพื้นที่ ซึ่งอาจส่งผลทางบวกต่อประชาชนในแม่สอดและบริเวณใกล้เคียง ถือเป็นการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ในไทย

อีกกลุ่มกิจการที่จะได้รับประโยชน์จากแม่สอด SEZ ได้แก่ ธุรกิจโลจิสติกส์ อาทิเช่น ศูนย์กระจายสินค้า โกดังสินค้า ฯลฯ ซึ่งเป็นธุรกิจบริการที่ไม่ได้ใช้แรงงานเข้มข้น ทำให้ไม่ต้องรอความชัดเจนในแง่ของนโยบายทางด้านแรงงานของรัฐบาล รวมไปถึง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดินและที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับแรงงานจากเมียนมา

อย่างไรก็ตาม กิจการบางประเภทอาจมีศักยภาพในการดำเนินงานในแม่สอด SEZ หากรัฐบาลมีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาด้านนโยบายค่าแรง ตลอดจนแผนการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการผลิต อาทิเช่น กิจการที่ใช้แรงงานเข้มข้นที่ผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการซื้อของผู้บริโภคในเมียนมาที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด ขณะที่ผู้ผลิตในเมียนมายังมีศักยภาพไม่เพียงพอที่จะผลิตสินค้าเหล่านั้น อาทิเช่น เครื่องดื่ม ฯลฯ รวมไปถึงกิจการที่ใช้แรงงานเข้มข้นอื่นที่เป็นกิจการเป้าหมายของกนพ.อาทิเช่น กิจการผลิตเฟอนิเจอร์ กิจการผลิตอัญมณี ฯลฯ ซึ่งเป็นกิจการที่สามารถใช้ทรัพยากรและแรงงานจากเมียนมาได้

จากศักยภาพในการพัฒนาดังกล่าว คาดว่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังเมียนมาผ่านด่านแม่สอด น่าจะขยายตัวได้กว่าร้อยละ 10-12 ในปี 2558 ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าผ่านด่านแม่สอด อยู่ที่ 6.5 – 6.7 หมื่นล้านบาท และตั้งแต่ปี 2560-2565 จะมีมูลค่าการส่งออกสินค้าผ่านด่านแม่สอดสามารถขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 18-20 ต่อปี เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีการเปิด SEZ ซึ่งมูลค่าการส่งออกสินค้าผ่านด่านแม่สอดที่สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 10 – 12 ต่อปี โดยสินค้าที่มีศักยภาพในการขยายตัวมาก ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้แรงงานเข้มข้นในการผลิต อาทิเช่น เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ฯลฯ

สรุป
การเปิดดำเนินงานของแม่สอด SEZ อาจเอื้อประโยชน์ต่อกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมที่กำลังเผชิญกับความสามารถในการแข่งขัน ที่ถดถอยจากการชะลอตัวของอุป-สงค์ภายในประเทศ ตลอดจนค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กอรปกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางด้านอุตสาหกรรมของไทยที่เน้นการผลิตต้นน้ำ (Upstream industry) เพื่อสนับสนุนการสร้างห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาค ทั้งนี้ การย้ายหรือขยายฐานการผลิตไปยังแม่สอด SEZ จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ได้รับประโยชน์ทางด้านภาษีจาก BOI เพื่อชดเชยต้นทุนทางด้านแรงงานที่สูงขึ้น

รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรจากประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนสร้างโอกาสในการส่งสินค้าไปจำหน่ายยังเมียนมา อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของแม่สอด SEZ ยังคงขึ้นอยู่กับศักยภาพของแม่สอด SEZ ในการดึงดูดนักลงทุน ซึ่งต้องอาศัยความชัดเจนของนโยบายของรัฐบาลที่ส่งผลต่อต้นทุนของกิจการ อาทิเช่น นโยบายด้านค่าแรงงานขั้นต่ำ ฯลฯ รวมไปถึงการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นรูปธรรมภายในกรอบเวลาที่แน่นอน ตลอดจนการพัฒนาคู่ขนานไปกับเมียนมาเพื่อสร้างการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจใหม่ในอนุภาคลุ่มน้ำโขง

 

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online