เวลากาแฟ โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
อ้างอิงช่วงปีใหม่ไทย ในฐานะ “คอกาแฟ” ถือโอกาสเปิดฉากใหม่ให้ตื่นเต้นขึ้นบ้าง
เป็น “เวลากาแฟ” กับ Gesha ซึ่งแตกต่างอย่างพิเศษ ด้วยเรื่องราวกาแฟพันธุ์ดั้งเดิมต้นแหล่งแดนไกล ปลูกขึ้นใหม่ครั้งแรก ณ ภูดอยภาคเหนือไทย ยกระดับรสชาติและคุณภาพกาแฟไทย เป็นผลิตภัณฑ์ราคาแพงและหายากทีเดียว กว่าจะได้มาคราวนี้ ด้วยการเฝ้ารอจังหวะเวลานานพอควร
จากตำนานและชื่อ สะท้อนแหล่งปลูกกาแฟเก่าแก่ในประเทศเอธิโอเปีย Gesha คืออาณาบริเวณหนึ่ง (District) ที่นั่น เทียบกับเขตปกครองไทยอาจจะเป็นแค่อำเภอ (ที่นั่นแบ่งเขตปกครอง เป็น 3 ระดับ จาก Regio, Zone และ District) เริ่มแผ่ขยายสู่โลกกว้าง เมื่อราว ๆ 70 ปีที่ผ่านมา กว้างขึ้น ๆ จากแอฟริกา สู่เอเชีย และลาตินอเมริกา ดูเหมือนว่าปานามาจะเป็นแหล่งผลิตสำคัญในเวลานี้ ทั้งเป็นที่เปิดตัวอย่างตื่นเต้น เมื่อไม่กี่ปีมานี้ มีรายงานเกี่ยวกับสถิติน่าทึ่ง มูลค่าซื้อขายถึงกว่า 1,300 ดอลลาร์/กิโลกรัม (คิดอย่างคร่าว ๆ เป็นเงินบาทราว 45,000 บาท) ว่าไปแล้วการประมูลในงานใหญ่เมื่อปีที่แล้ว Gesha ไทย มีราคาต่ำกว่านั้นไม่มาก
Gesha มาถึงเมืองไทยไปยังหมู่บ้านเล็ก ๆ บนภูสูง ราว 15 ปีที่แล้ว เรื่องราวที่นั่นน่าสนใจ ผมเคยนำเสนอไว้ (ตอน “เรื่องราวกาแฟน่าน”) เมื่อกว่า 4 ปีที่แล้ว “บ้านมณีพฤกษ์ อยู่ในอำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน บนพื้นที่ภูเขาสูง 1,400–1,600 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นชุมชนชนเผ่ามีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตนเอง” และอีกบางตอน “เรื่องราวกาแฟมณีพฤกษ์ เพิ่งเกิดขึ้นราว ๆทศวรรษเดียว เกี่ยวข้องกับผู้คนหลายคน หลายส่วน คนละไม้คนละมือ ….จน “กาแฟมณีพฤกษ์” มีเรื่องราวเข้มข้นเร้าใจขึ้น”
มีคนคนหนึ่ง ไม่กล่าวถึงคงไม่ได้ Kaleb Jordan บุตรฝรั่งมิชชันนารี เกิดที่นี่ อยู่มาตั้งแต่รุ่นพ่อ เขาจากไปช่วงหนึ่งในวัยศึกษาเล่าเรียน กลับมามณีพฤกษ์อีกครั้ง ช่างเป็นช่วงเวลาลงตัว จึงมาเติมเต็มในช่วงเวลาต้น ๆ แห่งยุคใหม่กาแฟภาคเหนือไทย ด้วยเขาพกประสบการณ์เกี่ยวกับกาแฟในสหรัฐอเมริกา เชื่อว่าคงมีโอกาสสัมผัสกลิ่นอายสังคมอเมริกันกำลังเข้าสู่กระแสคลื่นกาแฟใหม่ ที่เรียกว่า Third wave of coffee ด้วย
Kaleb กับภารกิจหลักแรก ๆ เป็นผู้บุกเบิกพัฒนาการปลูกกาแฟในพื้นที่ใหม่ของภูดอยภาคเหนือ พร้อมกับเชื่อมโยงเข้ากับวงจรการค้าให้เป็นจริง Gesha กับการมาถึงบ้านมณีพฤกษ์ครั้งแรกที่แรกในประเทศไทย มีพลังอย่างเหลือเชื่อ “ผมจึงลองเขียนอีเมลไปยังไร่หนึ่งใน Panama ที่ส่งกาแฟเข้าประกวดและชนะ 3 ปีซ้อน เพื่อขอซื้อเมล็ดพันธุ์เพื่อทดลองเพาะต้นกล้าดู ซึ่งเขาตอบตกลงและส่งให้ผมจำนวน 100 เมล็ด และหลังจากได้เมล็ดพันธุ์มาไม่นาน เขาออกกฎหมายไม่อนุญาตให้ส่งเมล็ดพันธุ์ Gesha ออกนอกประเทศได้อีก” Kaleb Jordan เคยเล่าไว้
“กาแฟมณีพฤกษ์” ค่อย ๆ ยกระดับห่วงโซ่และรอยต่อ อย่างไม่หยุดนิ่ง ลูกหลานชนเผ่า “ตัวแทน” คนพื้นถิ่นที่นั่น ได้มีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่า วิถีกาแฟยุคใหม่ อยู่ร่วมกับชุมชนดั้งเดิม ทั้งดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในไม่ช้า “กาแฟมณีพฤกษ์” จึงโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ไม่เพียงผู้คนรู้จักเข้ามาแวะเวียน หมู่บ้านอันห่างไกลบนภูเขาสูง ยังได้ขยายจินตนาการเชิงภูมิศาสตร์ให้กว้างขึ้น ๆ สู่ “กาแฟน่าน” ที่สำคัญได้จุดประกายกลายเป็นกระแสบางมิติ ขยายวงกว้างทั่วภูดอยภาคเหนือด้วย
เมื่อกว่า 4 ปีที่แล้ว ผมจึงดั้นด้นไปถึงบ้านมณีพฤกษ์ ไปเยือนทั้งที่แหล่งเรียนรู้และโรงคั่วกาแฟเล็ก ๆ ก่อน Kaleb จะขยายภาพกาแฟมณีพฤกษ์ นาม Gem forest ให้กว้างขึ้น ครอบคลุมทั่วภาคเหนือ ผ่านโรงคั่วใหม่ที่ใหญ่ขึ้นในตัวอำเภอปัว และได้ลิ้มลอง Gesha เป็นครั้งแรก ณ คาเฟ่เล็ก ๆ เพิ่งสร้างโดยลูกหลานชนเผ่า ก่อนพวกเขาจะมีโรงคั่วและสร้างผลิตภัณฑ์ Coffee de Hmong อย่างเป็นจริงเป็นจัง
ว่าไปแล้วเรื่องราวเริ่มต้น Gesha กับมณีพฤกษ์ ได้สะท้อนภาพกว้างว่าด้วย พัฒนาการอีกขั้นกาแฟไทยด้วย
ในภารกิจบุกเบิกแสวงหาพันธุ์กาแฟใหม่ ๆ จุดประกายเป็นแรงกระตุ้นและกระแส จาก Gesha อันตื่นเต้น สู่พันธุ์กาแฟอื่นหลากหลายอย่างมีนัย ขยายตัวเชิงภูมิศาสตร์ จากบ้านมณีพฤกษ์ สู่ที่อื่น ๆ ทั้งพัฒนาต้นธารกาแฟไทย เป็นไปให้ยั่งยืนและเชื่อมต่อกับกระบวนการทำ (coffee processes) อย่างสร้างสรรค์
กลายเป็นภารกิจในทิศทางใหม่ ผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่ มีความร่วมมือขยายวงมากขึ้น ๆ อย่างที่ใคร ๆ อยากเห็นให้เป็นไปมากกว่านั้น
อย่างที่เคยพาดพิงไว้ เชื่อมโยงงานใหญ่ในกรุงเทพ (“Thailand Coffee Fest 2022 : The Future ออกแบบอนาคตกาแฟไทย”) เมื่อปลายปีที่แล้ว (อ้างอิงจากตอน “ต้นธารคาเฟ่”) ด้วยพลังหลัก ๆ มาจาก “ขาใหญ่” ส่วนใหญ่อยู่ในกระบวนการกาแฟช่วงปลาย ๆ ทาง ซึ่งช่องว่าง (มาร์จินกว้างที่สุดในห่วงโซ่ ด้วยหวังว่า บรรดา “ขาใหญ่” เหล่านั้น จะมีบทบาท มีส่วนสนับสนุนและยกระดับกาแฟไทยในภาพกว้าง โดยเฉพาะสร้างผลกระทบเชิงบวกไปที่ต้นธาร
เวลานี้มีภาวะกระชับกระชั้นด้วยภารกิจร่วมเชิงขยายมากกว่าเดิม เมื่อภูดอยภาคเหนือเข้าสู่ช่วงหน้าร้อนและแล้งที่สุดปีหนึ่ง ปรากฏภัยคุกคามมากกว่าที่คิด มิใช่แค่ภารกิจเผชิญและแก้ปัญหาเพียงครั้งคราว หากต้องการแผนเชิงยุทธศาสตร์ซึ่งมาจากผู้เกี่ยวข้องทั้งห่วงโซ่ ด้วยภาพแห่งวิกฤตการณ์มีผลกระทบเชื่อมโยงกว้างขวางหลายมิติ จากระบบนิเวศภูดอย สู่วิถีชุมชน จนถึงความเป็นอยู่ในเมืองใหญ่ จากชุมชนเกษตรกรรม สู่ทั้งระบบเศรษฐกิจหนึ่ง จนถึงระดับภูมิภาค
มีบางภาพอาจมองเป็นแค่ชิ้นส่วนเล็ก ๆ– ต้นธารสำคัญกาแฟไทย อยู่ในนั้นด้วย
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



