อย่างหนึ่งที่หลาย ๆ บริษัททั่วโลกในปัจจุบันมีเหมือนกันคือ ช่วงวัยของพนักงานที่กว้างมากสุดในรอบหลายปี ไล่จาก Gen Z ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานหลังจบการศึกษาแบบออนไลน์ช่วงล็อกดาวน์ ขยับขึ้นสู่ Millennials หรือ Gen Y ที่อยู่มาหลายปีจนบางคนขึ้นเป็นหัวหน้าแผนก

และ Gen X ที่ทำงานกันมาเกือบ ๆ 20 ปีเป็นอย่างน้อย จนถือได้ว่าเป็นรุ่นใหญ่และหลายคนขึ้นไปเป็นผู้บริหาร นี่ทำให้เราได้เห็นคนรุ่นลูกถึงรุ่นพ่อแม่ทำงานอยู่ในบริษัทเดียวกัน ลักษณะการทำงาน พฤติกรรมและการรับมือกับความเครียดที่แตกต่างกันไป

เช่น คน Gen Z ที่ชอบทำงานหลักควบคู่ไปกับงานเสริม โดยเฉพาะเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เพราะเห็นว่าเป็นช่องทางเพิ่มรายได้และไม่ประมาท จากทั้งวิกฤตเศรษฐกิจและรับมือกับการคุกคามของ AI จนทำให้ Gen Z เครียดกับวิกฤตที่เข้ามาไม่หยุดหย่อน (Permacrisis)

อย่างไรก็ตาม Gen Z ก็มีปัญหาเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมงานรุ่นพี่ ๆ ร่วมออฟฟิศ เพราะติดล็อกดาวน์อยู่เกือบ 3 ปี และยังห่วงสุขภาพกับภาพลักษณ์ มากกว่าคนรุ่นก่อน จนเลี่ยงการสังสรรค์และดื่มแอลกอฮอล์ด้วย

ด้าน Gen X ก็มีสถานการณ์ที่ต้องรับมือเช่นกัน ทั้งงานในฐานะหัวหน้าแผนกหรือผู้บริหาร ต่อด้วยการปรับเข้าคนรุ่นลูกอย่าง Gen Z ที่มีกรอบความคิดแทบจะต่างจากคนรุ่นตนโดยสิ้นเชิง จนมีการคอร์สให้พนักงานรุ่นใหม่ ๆ สลับบทบาทมาแนะนำรุ่นใหญ่ (Reverse Menthorship) 

นอกจากนี้ Gen X ยังต้องพัฒนาทักษะในการทำงาน (Upskilling) ไม่ให้ตกยุคจนถูก Gen Y แซงหรือ AI แย่งงาน โดยถ้าตกงานอาจเป็นหายนะของทั้งครอบครัว

เพราะเงินเดือนจากงานที่ทำอยู่ต้องกระจายไปหลาย ๆ ทาง ทั้งยังชีพ เลี้ยงดูลูกและดูแลพ่อแม่ ทำให้ Gen X ไม่ต่างจากคนตรงกลางที่ขาดไม่ได้ อย่างแฮมหรือไส้ตรงกลางในแซนด์วิช

ทว่าก็มีอีกเทรนด์ในกลุ่ม Gen X ที่กำลังเห็นกันมากขึ้นตามออฟฟิศต่าง ๆ นั่นคือ การลาออกไปทำงานหรือใช้ชีวิตดังที่อยากได้อยากเป็นมานาน ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ (Great Reshuffle) เพราะ Gen X อยู่ในช่วงวัยกลางคนหรือใกล้เกษียณ

เทรนด์ Great Reshuffle ของ Gen X แม้คล้ายกับการพากันลาออกครั้งใหญ่ (Great Resignation) ของ Gen Y ช่วงปลายสถานการณ์โควิด เพราะทนกับบริษัทและสมดุลระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิต (Work-Life Balance) ที่เสียไปไม่ไหว แต่ก็มีความแตกต่างกันอยู่

เพราะ Gen X ที่เลือกลาออกนี้ส่วนใหญ่มีฐานะการเงินค่อนข้างมั่นคง หลังเก็บหอมรอมริบมาเกือบ ๆ 30 ปี โดยถ้าเป็นข้าราชการก็มีเงินบำนาญมาช่วยแบ่งเบา และถ้าเป็นคู่สามีภรรยาหรือพ่อแม่ ก็ยังมีรายได้จากอีกคนที่ยังไม่ลาออกคอยพยุงอยู่

การเริ่มต้นใหม่ช่วงวัยกลางคน และผ่านโลกมานาน ทั้งฟองสบู่บริษัทดอตคอมยุค 90 และวิกฤตสินเชื่อคุณภาพต่ำในสหรัฐฯ (Subprime) เมื่อปี 2008 ที่บานปลายเป็นเศรษฐกิจโลก ยังช่วยให้ Gen X รับมือกับปัญหาและวิกฤตที่เกิดขึ้นได้กว่า Gen Y และ Gen Z

งานที่ Gen X เลือกทำในการเขียนบทใหม่ให้ชีวิตตัวเอง ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่อยากทำมานาน หรือดันให้งานอดิเรกขึ้นมาเป็นงานหลัก

เช่น ศิลปินหญิงวัย 50 ปีชาวอเมริกันที่เลี้ยงชีวิตไปพร้อมดูแลลูกอยู่บ้านด้วยการปั้นหม้อและถ้วยโถโอชาม มาเกือบ 30 ปี ที่ไปกลับไปเรียนพยาบาลต่อจนได้ใบประกอบวิชาชีพ และได้ทำงานเป็นพยาบาลในห้องผ่าตัดสมใจ

ครูชาวอเมริกันวัย 43 ปีที่ลาออกมาทำ Podcast สาย Camping เต็มตัว หลังได้สปอนเซอร์และเขียนหนังสือออกมาหลายเล่ม ท่ามกลางตลาด Camping ที่โตต่อเนื่อง เพราะผู้คนอยากออกไปท่องเที่ยวเมื่อสถานการณ์โควิดผ่านพ้นไป

BBC วิเคราะห์เทรนด์ Great Reshuffle ผ่านทัศนะของนักวิชาการเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมว่า Gen X ต่างอยากหาทางออกจากวิกฤตวัยกลางคน จึงกลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรดีกับชีวิตก่อนเกษียณ

และเริ่มหมดห่วงกับภาระครอบครัว ขณะที่ลูก ๆ ก็โตจนทำงานเลี้ยงดูตัวเองได้หรือมาช่วยแบ่งดูแลปู่ย่าตายายได้แล้ว

ดังนั้น หากเห็นว่าพอไปได้ พวกเขาจึงเลือกงานที่อยากทำจากสิ่งที่ถนัด ทำได้อย่างมีความสุขและไม่ต้องเครียด ขณะเดียวกันก็คิดว่า ถ้าไม่ทำตอนนี้ต่อไปก็จะแก่เกินไปจนทำไม่ไหว

Diane Rosenmiller พยาบาลชาวอเมริกันวัย 50 ปี กล่าวว่ามีความสุขมากที่ได้ทำสิ่งที่อยากทำมานาน ขณะเดียวกันยังเป็นการปลุกไฟในตัว พร้อมเป็นตัวอย่างให้ลูก ๆ ได้เห็นด้วยว่า ชีวิตสามารถเริ่มต้นใหม่หรือปรับโหมดได้เสมอ/bbc



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online