ไม่มีใครอยากได้ชื่อว่าเป็นคนตกงาน เพราะนั่นหมายถึงปัญหามากมายที่ตามมา ไล่ตั้งแต่เรื่องค่าใช่จ่ายจำเป็นรายเดือน ความสัมพันธ์ในครอบครัวร้าวฉานจนถึงขั้นแยกทาง และการมองว่าตัวเองไร้ค่า
ส่วนในทางสังคมและฝ่ายปกครอง คนตกงานอาจกลายเป็นทั้งภาระสังคมและอาชญากรที่ก่ออาชญากรรม
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง (Disruption) ในธุรกิจต่าง ๆ และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่ผุดขึ้นมาตามความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ความกังวลว่าจะตกงานของคนยุคนี้เพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต
PwC เผยว่า 40% ของกลุ่มตัวอย่างวัยทำงาน 17 ประเทศ กังวลว่าเมื่อถึงปี 2025 งานที่ตนทำอยู่อาจตกยุค และไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอีกต่อไป
ท่ามกลางข่าวที่ออกมาอย่างต่อเนื่องว่า AI และระบบอัตโนมัติจะมาแย่งงานมนุษย์ ส่วนคนในอุตสาหกรรมน้ำมันมากมายก็อาจตกงาน ถ้าตลาดรถ EV ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าขยายตัวมากกว่านี้
อย่างไรก็ตาม มีคำหนึ่งซึ่งช่วยให้ผู้คนรอดจากการตกงานมาได้ทุกยุคสมัย นั่นคือ การพัฒนาทักษะในการทำงานใหม่และปรับตัวให้สอดรับกับตลาดแรงงาน (Upskilling)
ข้อมูลจากการประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ชี้ให้เห็นประโยชน์ของ Reskilling โดยนอกจากทำให้ประชากรโลกที่ปรับตัวทัน มีทักษะใหม่ ๆ ติดตัวและไม่ตกงานแล้ว ยังจะช่วยสร้างงานใหม่ทั่วโลกได้ 5.3 ล้านตำแหน่ง และดัน GDP โลกโตขึ้น คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อถึงปี 2030 อีกด้วย
ทว่าก็ยังมีคำถามตามมาว่า จะ Upskilling กันอย่างไร
ตั้งต้นจากความตั้งใจและเลิกคิดว่าเปลืองเวลา: ทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากก้าวแรก แต่ขาข้างแรกมักจะถูกคำว่า “เดี๋ยวก่อน” รั้งไว้อยู่เสมอ ซ้ำร้ายพอคิดว่าจะทำ ความกังวลว่า กิจกรรมใหม่จะมาดึงเวลาพักผ่อนและเวลาครอบครัวไป ก็มาดึงขาอีกข้างไว้อีก
ดังนั้น ต้องคิดใหม่ก่อนทำใหม่ และเตือนตัวเองว่า ถ้าวันนี้ไม่เริ่ม วันต่อ ๆ ไปก็จะกลายเป็นไดโนเสาร์ เป็นเครื่องรุ่นเก่าของตลาดแรงงาน และหากตกงานผลร้ายที่ตามมาจะกระทบไปถึงครอบครัวด้วย พร้อมกันนี้ให้คิดว่า เป็นการลงทุนเพื่ออนาคตที่จะทำให้ Win Win กันทั้งตัวเราเองและครอบครัว
เปิดใจและมองให้ไกล: หลังตั้งใจจะ Upskilling แล้ว ก็ต้องเลิกมองความเปลี่ยนแปลงว่าเป็นภัยคุกคาม เช่น มองว่า ถ้าเราเข้าใจและใช้ AI เป็น AI นั่นแหละจะช่วยให้งานเราง่ายขึ้น
ส่วนคนในบริษัทอุตสาหกรรมน้ำมัน หากเดินหน้าศึกษาพลังงานสะอาดและรถ EV เสียแต่วันนี้ ก็จะเห็นโอกาสก่อนผู้อื่น และทำให้ยังคงอยู่ในสมการของแวดวงยานยนต์ต่อได้ จนที่สุดไม่ตกงานเมื่อโลกเปลี่ยนสู่ยุค EV เต็มตัว
บริษัทและภาครัฐต้องยื่นมือเข้ามาช่วย: ผู้ที่ได้รับผลกระทบก่อนและเจ็บหนักที่สุดหากเกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ มักเป็นคนรากหญ้าและพนักงานระดับล่างเงินเดือนน้อย
ดังนั้น บริษัทและรัฐบาลต้องยื่นมือเข้ามาช่วย ผ่านการจัดอบรม ให้พนักงานได้ Upskilling ได้มีความรู้และทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็น
เพราะทักษะหลายอย่างต้องมีคนสอน ได้ลงมือปฏิบัติจริง และการต้องไปเสียเงินซื้อคอร์สเรียนจะยิ่งเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในช่วงรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจ
พร้อมกันนี้ถ้าประเทศมีประชากรที่รู้และเข้าใจ เทคโนโลยีและเทรนด์ใหม่ ๆ เศรษฐกิจของประเทศนั้นก็จะขยายตัวได้เร็วจนส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรดีขึ้น ต่างจากประเทศล้าหลังที่ตามประเทศอื่นไม่ทัน
เร่งหาช่องทางเรียน Upskilling แล้วลุยเลย: มีหลายวิธีที่จะพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เช่น ขอให้คนรุ่นใหม่ช่วย หรือเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ รวมไปถึงการอบรมของบริษัทและรัฐบาลที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
แต่เมื่อได้คนสอนหรือมีคอร์สเรียนแล้วก็เดินหน้าได้เลย เพราะตราบใดที่ยังมีทักษะเท่าเดิมความเสี่ยงจะตกงานก็จะยังไม่หมดไป
อย่างไรก็ตาม งานแต่ละประเภท Upskilling ต่างกันไป โดยบางงานอาจน้อยแค่อัปเดตทักษะไม่กี่อย่าง และเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ
เช่น ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ต้องดูข้อมูลในสื่อโซเชียลของผู้สมัครเพิ่มจากประวัติย่อ และต้องเพิ่มการทดสอบทักษะภาคสนาม ทั้งทักษะฝีมือและทักษะการเข้าสังคม เข้าไปด้วย
เพราะจำนวนผู้สมัครที่ใช้ AI เขียนประวัติย่อให้ และไม่ได้เก่งจริงตามหน้ากระดาษนั้นมีเพิ่มขึ้น
ส่วนบางงานก็ต้องใช้องค์ความรู้ใหม่และปรับให้เข้ากับองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิม เช่น นักการตลาดและฝ่ายโฆษณาของสื่อยุคนี้ ที่เข้าใจแค่โทรทัศน์และสื่อโซเชียลนั้นไม่พอแล้ว แต่ต้องเข้าใจแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นยอดฮิตอย่าง TikTok เพิ่มเข้ามาด้วย
แต่บางงานอาจถึงขั้นต้องยกเครื่องและเปลี่ยนอุปกรณ์ทำงาน (Retool) แบบยกชุดกันไปเลย ถ้าไม่อยากตกงาน เช่น พนักงานในธุรกิจร้านอาหาร ที่ต้องใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติต่าง ๆ ให้คล่อง ไม่ต่างจากใช้มีดใช้ตะหลิว/bbc
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



