ราว 1 ปีมานี้มีความเคลื่อนไหวของประเทศหนึ่งที่แม้เงียบ ๆ แต่ก็น่าสนใจ แสดงให้เห็นพัฒนาการและเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชม โดยประเทศที่ว่าคือ เดนมาร์ก
จากประเทศเกษตรกรรม ปัจจุบัน เดนมาร์ก พัฒนาเป็นประเทศดิจิทัลอันดับ 1 ของโลก ที่การทำธุรกรรมและติดต่อหน่วยงานราชการทั้งหมดสามารถทำได้ผ่านทางออนไลน์แบบแทบไม่มีการติดขัด ซึ่งถือเป็นความสำเร็จจากการมองการณ์ไกลเมื่อ 20 ปีก่อนของรัฐบาล
ส่วนด้านธุรกิจ ก็มีบริษัทและแบรนด์สัญชาติเดนมาร์กซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกอยู่พอสมควร เช่น Lego ที่เป็นแชมป์แบรนด์ของเล่นมูลค่าสูงสุดในโลกต่อเนื่องมาแล้ว 9 ปี
และ MAERSK เบอร์ใหญ่ในวงการขนส่งทางเรือ ที่ยังเป็นแบรนด์ Top 10 ของแวดวงโลจิสติกส์ด้วย
ล่าสุดมีบริษัทเดนมาร์กอีกแห่งกลายเป็นข่าวใหญ่ของยุโรป หลังสิงหาคมที่ผ่านมาและต่อเนื่องมาถึงกันยายน บริษัทยา Novo Nordisk แซงเครือแบรนด์หรู LVMH ขึ้นมาเป็นบริษัทที่มูลค่าตามราคาตลาด (Market cap) สูงสุดของยุโรป
ความน่าสนใจของเรื่องนี้ ไม่ได้มาจากการแซง LVMH เท่านั้น เพราะนี่คือบริษัทอายุ 100 ปี ที่มูลค่าบริษัทกับยอดขายโตอย่างต่อเนื่องจากการหันไปให้ความสำคัญกับยาลดความอ้วนที่เป็นผลิตภัณฑ์ต่อยอด และขาขึ้นครั้งนี้ยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของเดนมาร์กอย่างชัดเจน
Novo Nordisk ก่อตั้งเมื่อปี 1923 โดยเริ่มจากห้องแล็บเล็ก ๆ เพื่อผลิตอินซูลินและพัฒนายารักษาโรคเบาหวานที่ ณ เวลานั้นเพิ่งมีการคิดค้นกันขึ้นมา พอข้ามมาปี 1986 ก็ซื้อกิจการ Ferrosan แล้วเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Novo Nordisk
แต่จุดเปลี่ยนของ Novo Nordisk เริ่มขึ้นในปี 2008 หลังเริ่มพัฒนายาลดความอ้วน ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับการรักษาโรคเบาหวาน โรคที่คนอ้วนเป็นกันมากนั่นเอง
พอปี 2017 สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ (หรือ FDA ที่เทียบได้กับ อย. ของไทย) อนุญาตให้ Novo Nordisk สามารถจำหน่าย Ozempic ยาลดความอ้วนที่พัฒนาขึ้นได้ โดยยาตัวนี้ขายดีมากในสหรัฐฯ ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลดีต่อผลประกอบการและมูลค่าแบรนด์ของ Novo Nordisk ในเวลาต่อมาด้วย
ปี 2018 มูลค่าแบรนด์ Novo Nordisk อยู่ที่ 1,382 ล้านดอลลาร์ (ราว 49,000 ล้านบาท) ปีต่อมาเพิ่มขึ้นเป็น 1,707 ล้านดอลลาร์ (ราว 60,600 ล้านบาท) พอข้ามไปปี 2022 ซึ่ง Wegovy ยาลดความอ้วนอีกตัวของ Novo Nordisk ที่ FDA ให้ไฟเขียวขายดี มูลค่าแบรนด์ Novo Nordisk ก็เพิ่มอีกเป็น 2,368 ล้านดอลลาร์ (ราว 84,000 ล้านบาท)
การที่ Wegovy ขายดีในสหรัฐฯ และข้ามไปขายดีในยุโรปด้วย ยังมีสาเหตุมาจากคนดังในสหรัฐฯ เช่น Elon Musk ก็ใช้ และรัฐบาลหลายประเทศในยุโรป รวมถึงอังกฤษอนุญาตให้ขายได้อีกด้วย หลังมีข้อมูลทางการแพทย์ว่าเมื่อใช้ไปได้ 16 เดือนน้ำหนักตัวจะลดลง 15%
มาปี 2023 ยา Wegovy ขายดีขึ้นไปอีก ซึ่งแน่นอนส่งผลดีต่อ Novo Nordisk โดยมูลค่าแบรนด์ของ Novo Nordisk เพิ่มขึ้นเป็น 3,101 ล้านดอลลาร์ (ราว 110,000 ล้านบาท) และ 6 เดือนแรกของปี 2023 Novo Nordisk ทำกำไรได้ 7,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 248,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 32% จากกรอบเวลาเดียวกันของปี 2022
ท่ามกลางคาดว่าสิ้นปีนี้จะทำกำไรได้จะเพิ่มเป็น 37% แซงหน้า 22% จากที่เคยประเมินไว้
ช่วงรอยต่อระหว่างสิงหาคมกับกันยายนที่ผ่านมา Novo Nordisk กลายเป็นข่าวใหญ่ หลัง Market cap เพิ่มเป็น 421,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 14.9 ล้านล้านบาท) แซง LVMH ขึ้นเป็นบริษัทที่ Market cap สูงสุดของยุโรป ซึ่งยังเป็นการทำให้ LVMH ร่วงจากบัลลังก์ครั้งแรกในรอบ 2 ปีครึ่งอีกด้วย
ขาขึ้นของ Novo Nordisk ยังไม่หยุดแค่นั้น โดยเมื่อ 5 กันยายน Market cap เพิ่มขึ้นเป็น 428,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 15.1 ล้านล้านบาท) ซึ่งทำให้ Novo Nordisk เป็นทั้งบริษัทที่ Market cap สูงสุดของยุโรป และบริษัทยาอันดับ 1 ของยุโรป แซง Roche กับ AstraZeneca ไปแล้ว
ขณะเดียวกันยังทำให้ภาพรวมตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขส่งออกจากอุตสาหกรรมยาเพิ่มขึ้น 2 เท่าและคิดเป็น 1 ใน 5 ของยอดส่งออกทั้งประเทศ
ความสำเร็จครั้งนี้เกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน ทั้งการสนับสนุนงบประมาณของรัฐบาลเดนมาร์ก และการทุ่มงบวิจัยอย่างมหาศาลของ Novo Nordisk โดยที่บริษัทเองก็ยอมรออย่างใจเย็นกับกำไรที่จะตามมา
นี่ทำให้ Novo Nordisk ขึ้นมาเป็นบริษัทสำคัญที่สุดต่อเศรษฐกิจของเดนมาร์ก จนเกิดการจับตามองว่าทาง Novo Nordisk จะขยับขยายต่อไปยังทิศทางใด และรัฐบาลเดนมาร์กจะเข้ามาบริหารจัดการอย่างไร
เพราะนี่หมายความว่าปีนี้ Novo Nordisk คือยักษ์ธุรกิจอันดับ 1 ของประเทศเล็กที่มีประชากรแค่ 6 ล้านคน แบบเดียวกับที่ Nokia เคยเป็นมาแล้ว โดยในอนาคตหาก Novo Nordisk เกิดร่วง จากความนิยมในยา Wegovy หรือเกิดปัญหาใดก็ตามกับตลาดลดความอ้วน
เศรษฐกิจของเดนมาร์กอาจทรุดแบบเดียวกับที่ฟินแลนด์เผชิญ หลัง Nokia ร่วงหลังประมาทช่วงที่ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่เปลี่ยนไปเป็น Smartphone
และแบบเดียวกับสถานการณ์ในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งชาว Dutch (ดัตช์) เป็นคนส่วนมากของประเทศจนกลายเป็นอีกชื่อเรียกของประเทศไปด้วย
ยุค 60 เนเธอร์แลนด์เคยหันไปพึ่งพาอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากเกินไป แต่เมื่อธุรกิจดังกล่าวทรุด เศรษฐกิจประเทศก็ทรุดหนักตามไปด้วย จนกลายเป็นศัพท์ทางเศรษฐกิจที่ว่า Dutch disease หรือโรคดัตช์ ใช้เรียกประเทศที่ทรุดจากสถานการณ์เดียวกัน/cnn, bbc, nytimes, wikipedia, branddirectory
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ