“เอไอเอสยังคงย้ำจุดเดิม ทำธุรกิจผ่าน พาย 3 ชิ้น”
สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวในงาน AIS THE NEXT EVOLUTION อัปเดตภาพรวมแผนธุรกิจของ AIS ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2023
การตอกย้ำทิศทางดำเนินธุรกิจของเอไอเอสผ่านพาย 3 ชิ้น ที่จะขับเคลื่อนเอไอเอสต่อไปในอนาคตมาจากการมองเห็นการแข่งขันของธุรกิจโทรคมนาคมที่ในปัจจุบันจะเน้นแข่งขันกันบนราคาที่สมเหตุสมผล พร้อมสร้างประสบการณ์การใช้งานให้กับลูกค้า มากกว่าการแข่งขันผ่าน Price War สงครามราคาที่ลดราคาถูกกว่าปกติเพื่อเกณฑ์ลูกค้าเข้ามาใช้บริการเหมือนเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา
พาย 3 ชิ้น ในโค้งสุดท้ายของปี 2566 ที่จะส่งไม้ต่อไปยังปี 2567 ประกอบด้วย
พายชิ้นที่ 1
Intelligence Infrastructure พัฒนาโครงข่ายและบริการมือถือและเน็ตบ้าน
ปีนี้เอไอเอสลงทุนด้านโครงข่ายมือถือและอินเทอร์เน็ตบ้านทั้งสิ้น 27,000–30,000 ล้านบาท
และเป็นการลงทุนอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อปรับปรุง สร้างโครงข่าย ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันและอนาคต
การลงทุนด้านเครือข่ายมือถือ ในปัจจุบันเอไอเอสมีการติดตั้งสถานีฐานให้บริการเครือข่ายมือถือทั้งสิ้น 46,590 สถานีฐาน ให้บริการกับลูกค้า 44.4 ล้านราย
และยังคงจับมือกับ NT หรือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) นำคลื่นความถี่ 700 MHz ที่ NT มีอยู่ 10 MHz มาผสมผสานกับคลื่นความถี่ 700MHz ที่เอไอเอสประมูลได้มา 30 MHz รวมเป็น 40 MHz เพื่อนำคุณบัติเด่นของคลื่น 700 MHz ที่ส่งสัญญาณไปได้ไกล เข้ามาเสริมบริการกับลูกค้าเอไอเอส โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เครือข่ายมือถือเข้าไม่ถึง
พร้อมกับนำเครือข่าย 700 MHz ทั้งหมดที่มีอยู่ให้ NT เป็นผู้เช่าให้ลูกค้าของ NT สามารถใช้งานเครือข่าย 700MHz ของเอไอเอสได้แทนที่ NT จะเป็นผู้ลงทุนด้านเครือข่ายเอง
นอกจากนี้ เอไอเอสยังพัฒนาบริการ Living Network แพ็กเกจที่ให้ลูกค้าสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือได้ตามต้องการ บริการนี้จะเปิดให้บริการเดือนธันวาคม 2566
สำหรับโครงข่ายเน็ตบ้านปัจจุบันเอไอเอสมีการวางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบ้านรวม 254,000 กิโลเมตร ให้บริการกับลูกค้า 2.38 ล้านราย
และในปีหน้าเมื่อเอไอเอสร่วมมือกับ 3BB จะสามารถสร้างโครงข่ายอินเทอร์เน็ตบ้านรองรับการให้บริการมากถึง 13 ล้านครัวเรือน
พร้อมกับกลยุทธ์ดึงดูดลูกค้า 3BB ผ่านการตลาดในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเชิญชวนให้ลูกค้า 3BB ที่ใช้เครือข่ายมือถือคู่แข่งเข้ามาเป็นลูกค้ามือถือเอไอเอสมากขึ้น
ในปัจจุบันลูกค้า 3BB เป็นลูกค้าเอไอเอสประมาณ 50% ของลูกค้าทั้งหมด จากลูกค้า 3BB ที่เรียกเก็บเงินได้ในไตรมาส 2/2566 รวม 2.31 ล้านราย
ส่วนของบริการ WiFi มีการร่วมมือกับ TP-Link พร้อมเราเตอร์ WiFi7 ลดปัญหาเกี่ยวกับสัญญาณแออัดให้ลูกค้าสามารถใช้บริการเชื่อมต่อผ่าน WiFi ได้ลื่นไหลขึ้น
กลุ่มบริการเครือข่ายให้กับ Enterprise Platform เปิดบริการ Enterprise Platform-CPaaS (Communication Platform as a Service) และ AIS Paragon ที่เชื่อมต่อเครือข่าย 5G, Fibre, Edge Computing, Cloud, และ Software Application ให้บริการกับองค์กรธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมติดต่อสื่อสารผ่าน Cloud Base
พายชิ้นที่ 2
Cross Industry Collaboration จับมือพาร์ตเนอร์ให้บริการสร้างความแข็งแกร่งในรูปแบบ Economic Ecosystem ให้บริการกับลูกค้าองค์กรและลูกค้าทั่วไป
ในส่วนของลูกค้าองค์กร เอไอเอสมีการจับมือกับไมโครซอฟท์ให้บริการ Generative AI หรือ Gen AI ในชื่อบริการ Co-Pilot เชื่อมกับกับซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ของไมโครซอฟท์ให้ลูกค้าสามารถออกคำสั่งให้ AI นำข้อมูลที่ลูกค้าป้อนลงซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์แพลตฟอร์มหนึ่ง แปลงเป็นอีกแพลตฟอร์มหนึ่งด้วยเสียงได้ เช่น การแปลงข้อมูลจากไมโครซอฟท์เวิร์ด เป็นพาวเวอร์พอยต์ เป็นต้น
บริการ Microsoft Teams Phone ให้ลูกค้าสามารถโทรออกไปยังเบอร์ภายนอกทั่วโลก ผ่าน Microsoft Teams ได้ บริการนี้ถือเป็นครั้งแรกใน South East Asia
และจับมือกับ ZTE นำบริการ Cloud PC เครื่อง PC ขนาดเท่าฝ่ามือให้บริการลูกค้าองค์กรเชื่อมต่อการทำงานและเก็บข้อมูลบนคลาวด์ได้
ซึ่งบริการเหล่านี้เชื่อว่าจะกลายเป็นหนึ่งในการสร้างรายได้ใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจ เป็นภาคต่อจากรายได้เดิม ๆ ที่เอไอเอสให้บริการผ่านมือถือและเน็ตบ้าน และเป็นการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งอีกทางหนึ่ง
สำหรับลูกค้าทั่วไป มีการจับมือกับพาร์ตเนอร์ เชื่อมต่อสิทธิประโยชน์ผ่าน AIS Point ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การจับมือกับบัตรเครดิตนำพอยต์ของบัตรเปลี่ยนเป็น AIS Point นำไปใช้ในรูปแบบต่าง ๆ ได้
การจับมือกับธนาคารกรุงไทยให้บริการกับลูกค้าเอไอเอสสามารถนำ AIS Point จ่ายค่าสินค้าและบริการกับร้านค้ารายย่อยที่มีแอปถุงเงินจำนวน 1.8 ล้านร้านค้าได้
และจับมือกับพาร์ตเนอร์ทั้งห้างสรรพสินค้าและร้านค้าอื่น ๆ กว่า 30,000 แห่งให้บริการสิทธิพิเศษผ่าน AIS Point อีกด้วย
พายชิ้นที่ 3
Sustainable สร้างความยั่งยืนทั้งโลกและคน
เอไอเอสลงทุนด้าน Green Network ปรับเปลี่ยนเครือข่ายที่ให้บริการมือถือและเน็ตบ้าน สู่เครือข่ายที่มีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงานมากขึ้น และติดตั้งโซลาร์เซลล์ตามสถานที่ฐานเพื่อใช้งานจากพลังงานแสงอาทิตย์แทนพลังงงานไฟฟ้าในรูปแบบเดิม
และยังคงสานต่อโครงการ E-Waste จัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธีแบบปราศจากการฝังกลบหรือ Zero e-waste to landfill
สำหรับการสร้างความยั่งยืนด้านคน ได้สานต่อโครงการ AIS อุ่นใจ CYBER เพื่อลดผลกระทบจากภัยไซเบอร์ที่เกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบในปัจจุบัน ผ่านหลักสูตรการเรียนรู้อุ่นใจไซเบอร์ 4P ที่มีผู้เรียนแล้วกว่า 300,000 ราย
และส่งเสริมองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ ผ่านโครงการ AIS Academy for Thai ที่ประกอบด้วยแพลตฟอร์มให้บริการความรู้กับบุคคลที่สนใจผ่าน 4 แพลตฟอร์มหลักประกอบด้วย
LearnDi แพลตฟอร์มที่สร้างความรู้เชิงป้องกัน
Digital Library สร้างช่องทางในการเข้าถึงความรู้
อุ่นใจอาสาพัฒนาอาชีพ สร้างทักษะด้านอาชีพ
และ AIS Digital Talent สร้างไอเดียในการพัฒนา
อย่างไรก็ดี แนวทาง พาย 3 ชิ้น ที่กล่าวมา เป็นหนึ่งในแนวทางพัฒนาธุรกิจเอไอเอส ควบคู่ไปกับการจับมือกับพาร์ตเนอร์ และสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศด้วยดิจิทัลผ่านเครือข่ายและบริการที่เอไอเอสมีให้
ที่ผ่านมาการพัฒนาเครือข่ายดิจิทัลจากทุกโอเปอเรเตอร์ผลักดันให้ประเทศไทยมีผู้ใช้งานมือถือร่วมกันทุกโอเปอเรเตอร์มากถึง 130% เมื่อเทียบกับประชากรไทยทั้งหมด
มีการใช้งานเน็ตบ้าน 50% ของครัวเรือนทั้งประเทศ
ที่ส่งเสริมการเข้าถึงโลกการค้าออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซมากถึง 20,000 ล้านบาทในปัจจุบัน และสร้าง Creators ในรูปแบบต่าง ๆ มากถึง 2 ล้านคน
ซึ่งเอไอเอสเป็นหนึ่งในเครื่องจักรที่สำคัญที่จะเซิร์ฟเครือข่ายมือถือ เน็ตบ้าน พร้อมบริการต่าง ๆ ให้คนไทยเข้าถึงดิจิทัลได้อย่างดี
ส่วนแนวทาง พาย 3 ชิ้น ในปีต่อ ๆ ไปจะเป็นอย่างไร คงต้องรอสมชัยแถลงอีกครั้ง
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ