ดิเอ็มดิสทริค ทำความรู้จักเมกะโปรเจกต์ลักชัวรี มอลล์ที่มีมูลค่า 2 หมื่นล้าน

เดอะมอลล์ กรุ๊ป เผยกำไรปีนี้โตสูงกว่าก่อนวิกฤต (ปี 2562) ดีเดย์ “ดิ เอ็มสเฟียร์” มูลค่าพัฒนา 2 หมื่นล้านบาท 1 ธ.ค. นี้ พร้อมทุ่มงบพันล้านบาท สร้างการรับรู้เมกะโปรเจกต์ลักชัวรี มอลล์ “ดิเอ็มดิสทริค” ข้ามปี พร้อมเปิดเดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ บางแค มูลค่าพัฒนารวม 3 ศูนย์ฯ เปิดใหม่ ธ.ค. นี้ 5 หมื่นล้านบาท และแง้มโครงการศูนย์การค้ากำลังพัฒนาล่าสุด “Bangkok Mall”

อยู่ในช่วงเคานต์ดาวน์รอเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ธ.ค. 2566 สำหรับ “ดิ เอ็มสเฟียร์” จิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายในเมกะโปรเจกต์ลักชัวรี มอลล์ ย่านพร้อมพงษ์ ถ. สุขุมวิท ของเครือเดอะมอลล์ กรุ๊ป อย่าง “โครงการดิเอ็มดิสทริค” 

นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ประสบการณ์การบริหารธุรกิจรีเทล มากกว่า 40 ปี บริษัทได้สร้างย่านการค้า (เดอะมอลล์) จนประสบความสำเร็จมาแล้วเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา ในย่านรามคำแหง ท่าพระ งามวงศ์วาน และใน 2 มุมเมืองที่เปิดตัวพร้อมกันเมื่อเดือน ส.ค. 2537 ในย่านบางกะปิ บางแค  

ต่อเนื่องมาถึงโครงการ ‘ลักชูรี มอลล์แห่งแรกในประเทศไทย’ ในปี 2540 กับศูนย์การค้า “ดิ เอ็มโพเรียม” และปี 2558 กับศูนย์การค้า “ดิ เอ็มควอเทียร์” ซึ่งทั้ง 2 โครงการ เป็นโครงการสำคัญในย่านกลางเมือง (Midtown) ที่ส่งให้เกิดการขยายตัวของสังคม เศรษฐกิจ บริเวณใจกลาง ถ. สุขุมวิท 

รวมถึงการที่บริษัทมีส่วนร่วมพัฒนาศูนย์การค้าสยามพารากอน ซึ่งมีแทรฟฟิกลูกค้าเป็นคนไทย 50% ทัวร์ริสต์ 50% แบ่งการทำงานในสัดส่วนเท่า ๆ กันระหว่าง สยามพิวรรธน์ กับ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ซึ่งเริ่มต้นได้จากการได้รับความเชื่อมั่นจากแบรนด์ลักชัวรี ไฮเอนด์ หลังมีความสัมพันธ์ที่ดีกันมาตั้งแต่ดิ เอ็มโพเรียม  

วันนี้ (14 พ.ย. 2566) บริษัทแถลงข่าวว่า ศูนย์การค้าในโครงการดิเอ็มดิสทริค เตรียมพร้อมเปิดให้บริการเต็มศักยภาพ พื้นที่ให้บริการรวม 650,000 ตร.ม.

วางโพสิชั่นนิ่งเป็นลักชัวรี มอลล์ เจาะลูกค้ากำลังซื้อระดับกลางถึงบน โดย 3 ศูนย์การค้า สามารถเชื่อมถึงกันได้หมดผ่านสกายวอล์ก (ฝั่งเชื่อมดิ เอ็มสเฟียร์ เปิดใช้พร้อมตัวศูนย์ฯ) และเดินตรงถึง BTS สถานีพร้อมพงษ์ได้จากทั้ง 3 ศูนย์ฯ  

ดิ เอ็มโพเรียม อัลติเมท ลักชัวรี มอลล์ เน้นแฟลกชิปของลักชัวรีแบรนด์ พื้นที่บริการรวม 200,000 ตารางเมตร   

ดิ เอ็มควอเทียร์ ลักชัวรี มอลล์ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ครบวงจรของคนทำงานยุคใหม่ พื้นที่บริการรวม 250,000 ตร.ม. มีทั้งศูนย์การค้า สำนักงาน (ภิรัชทาวเวอร์ แอท เอ็มควอเทียร์) เอนเตอร์เทนเมนต์ อีเวนต์สเปซ พื้นที่สีเขียว 

และดิ เอ็มสเฟียร์ ฟีเจอร์ มอลล์ พื้นที่บริการรวม 200,000 ตร.ม. กับ 2 อาคารที่เชื่อมต่อกัน ดีไซน์การตกแต่งภายในด้วยผลงานศิลป์ไวป์ดีจากดีไซเนอร์ ศิลปินชาวไทย

บรรยากาศรอบสื่อมวลชนทัวร์ก่อนเปิดใช้งานพื้นที่

พร้อมเป็นแหล่งแฮงก์เอาต์ประจำย่านสุขุมวิท ที่มีร้านอาหารเปิดหลังเที่ยงคืน บางร้านเตรียมเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง รองรับไลฟ์สไตล์คนในย่านสุขุมวิทภาครีเทลรวมเทรนด์และไลฟ์สไตล์กว่า 300 ร้านค้า มากกว่า 1,000 แบรนด์ ไฮไลท์ อาทิ อิเกีย สุขุมวิท (ชั้น 3) พื้นที่กว่า 15,000 ตร.ม. เป็นอิเกีย (IKEA) คอนเซ็ปต์ซิตี้ เซ็นเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกของแบรนด์ IKEA

หรือ UOB LIVE อารีน่า (รอเปิดหลัง 1 ธ.ค. 2566) พื้นที่ 20,000 ตร.ม. ความจุผู้เข้าร่วมงานถึง 6,000 ที่นั่ง รองรับตลาดเอนเตอร์เทนเมนต์ที่กำลังซื้อของผู้บริโภคกำลังเติบโต ด้วยการจัดสรรพื้นที่ให้ตอบโจทย์อีเวนต์ที่หลากหลาย อาทิ แฟนมีตติ้ง คอนเสิร์ต โชว์เคส

ศุภลักษณ์ กล่าวว่า “แทรฟฟิกของดิ เอ็มโพเรียม ดิ เอ็มควอเทียร์ คนไทย 85% ทัวร์ริสต์ 15% โดยหากสามารถดึงกลุ่มหลังให้ขยับขึ้นมาเป็น 35% หลังการเปิด ดิ เอ็มสเฟียร์ จะทำให้โครงการดิเอ็มดิสทริค มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นได้”

ส่วนของระบบนิเวศเมืองในพื้นที่ดิเอ็มดิสทริค ศุภลักษณ์ กล่าวว่า “บริษัทได้เข้าไปร่วมพัฒนาพื้นที่ “สวนเบญจสิริ” สวนสาธารณะประจำย่านสุขุมวิท ร่วมกับ กทม. (ผู้ดูแล) และกรมธนารักษ์ (ผู้สร้าง) ด้วยการปรับปรุงบริการสาธารณะต่าง ๆ ให้มีมาตรฐาน เพิ่มน้ำพุที่มาพร้อมแสงสีบนแอ่งน้ำกลางสวน รองรับแทรฟฟิก 5-6 พันคนต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนพื้นที่ที่มีกำลังซื้อ”

และบริษัทยังได้ปรับสื่อโฆษณา Out Home Media ลงทุนหลักร้อยล้านบาทด้วยการใส่จอ LED แบบ 3D ของทั้ง 3 ศูนย์ฯ ในดิเอ็มดิสทริค เพิ่มมูลค่าการขายสื่อ โดยเจาะกลุ่มแบรนด์ลักชัวรี ที่มีกำลังซื้อสื่อสูงและนิยมการโปรโมตโปรดักต์ผ่านสื่อดังกล่าว  

หลังเปิด “ดิ เอ็มสเฟียร์” บริษัทเตรียมอัดฉีดงบจัดกิจกรรมตลาดสร้างการรับรู้พื้นที่ดิเอ็มดิสทริค ต่อเนื่องถึงเดือน ม.ค. 2567 รวมงบลงทุน 1,000 ล้านบาท ภายใต้แคมเปญ “EM DISTRICT CALLING THE WORLD” ไม่ว่าจะเป็น งานจัดแสดงศิลปะ, อีเวนต์อาหาร เครื่องดื่ม, ปาร์ตี้, งานพาเหรดของบรรดาศิลปินและอินฟลูเอนเซอร์ทั้งไทยและต่างประเทศ 

สำหรับการรีโนเวตเป็นแฟลกชิปภายใต้แบรนด์ “The Mall Lifestore” ของ “เดอะมอล์ บางกะปิ” ฝั่งตะวันออก กรุงเทพฯ พร้อมเปิดโฉมใหม่เต็มรูปแบบวันที่ 8 ธ.ค. 2566 และ “เดอะมอลล์ บางแค” ฝั่งตะวันตก กรุงเทพฯ ช่วงต้นปี 2567  

โดยจะทำให้ทั้ง 2 โครงการ มีพื้นที่บริการรวมกว่า 700,000 ตารางเมตร (บางกะปิ 350,000 ตารางเมตร, บางแค 350,000 ตารางเมตร) มีพันธมิตรธุรกิจกว่า 2,000 แบรนด์ รองรับทุกกลุ่มสินค้า สำหรับผู้บริโภคในพื้นที่ซึ่งเป็นแทรฟฟิกส่วนใหญ่ของทั้ง 2 แห่ง 

และจะเพิ่มประสบการณ์ผ่านแบรนด์ไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ รองรับกลุ่มคนเมืองที่ขยายตัวมาอยู่ในโซนบางกะปิ บางแค มากขึ้น เตรียมจัดกิจกรรมการตลาดสร้างการรับรู้ภายใต้แคมเปญ The Capital of Life Wonders (มหัศจรรย์ มหาศาลที่มหานครแห่งใหม่) รวมงบที่วางไว้ 1,000 ล้านบาท 

ด้าน มูลค่าพัฒนาโครงการศูนย์การค้า 3 มุมเมือง รวม 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็น เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ และบางแค 30,000 ล้านบาท และดิ เอ็มสเฟียร์ 20,000 ล้านบาท 

ในงานแถลงข่าวครั้งนี้ ศุภลักษณ์ ยังได้แง้มเมกะโปรเจกต์กำลังพัฒนาล่าสุดอย่าง “Bangkok Mall” ขนาดพื้นที่ 1,000,000 ตร.ม. เฉพาะที่จอดรถกว่า 300,000 ตร.ม. และจะรองรับการเข้าถึงของ SMEs ที่จะเข้ามาเป็นผู้ประกอบการในศูนย์การค้า กว่า 7,000 ราย ศูนย์การค้าจะตั้งอยู่ตรงข้ามกับศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ทั้งติดรถไฟฟ้าสายสุขุมวิท 

ดิเอ็มดิสทริค

ตั้งเป้าให้เป็นเกตเวย์รองรับแทรฟฟิกผู้บริโภคจากโซนบางนายาวไปถึงสนามบินสุวรรณภูมิ งบลงทุนประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท เปิดได้ประมาณปี 2569-70  

อนึ่ง ปี 2566 เดอะมอลล์ กรุ๊ป มียอดรับรู้รายได้ประมาณ 50,000 ล้านบาท เป็นกำไรประมาณ 6,000 ล้านบาท (สูงกว่าปี 2562) แบ่งเป็นศูนย์การค้า 3,000 ล้านบาท ห้างสรรพสินค้า 3,000 ล้านบาท

ภาพรวมตลาดรีเทลในไทย ศุภลักษณ์กล่าวว่า หากภาครัฐสนับสนุนการขยายระยะเวลาเปิดดำเนินกิจการธุรกิจกลุ่มเอนเตอร์เทนเมนต์ต่าง ๆ ก็จะช่วยให้ภาครีเทลโดยรวมดีขึ้นได้ โดยปี 2566 ตลาดรีเทลยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว คาดว่าจะกลับมาคึกคักอย่างเต็มสูบในปี 2567 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online