เวลากาแฟ/วิรัตน์ แสงทองคำ
หมายเหตุ: ซีรีส์เรื่องราว “คอกาแฟ” คนหนึ่ง เวลาซึ่งผ่านพ้นราว 2 ทศวรรษ ในความพยายามควบคุม กระบวนการกาแฟทั้งห่วงโซ่ จากต้นธารจนถึงปลายทาง
.
แบบแผน “การทำงานที่บ้าน” (WORK FROM HOME หรือ WFH ) สำหรับบางคนมีมานานแล้ว ผมเองเป็นเช่นนั้นในฉากตอนระทึกต่อจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เมื่อกว่า 2 ทศวรรษ คิดว่ามีส่วนเชื่อมโยงไม่น้อยให้มีบทบาท “คอกาแฟ” ด้วย
อย่างที่ว่าไว้ในฐานะ “คอลัมนิสต์ธุรกิจอิสระ ด้วยวัตรปฏิบัติ 4 ทศวรรษ กับผลงานนับพันชิ้น เบื้องหลังฉาก “เวลากาแฟ” ดำเนินไปด้วยเป็นกิจวัตร .” บทแนะนำตนเองเคยมีไว้อย่างกระชับนั้น ควรมีภาคขยายให้เข้ากับบริบท ให้เข้าใจเรื่องราวมากขึ้น
ด้วยมีช่วงชีวิต “มืออาชีพ” หรือ “ลูกจ้าง” กว่าทศวรรษคู่ขนานไปด้วย ก่อนสื่อดั้งเดิมได้เผชิญวิกฤตใหญ่หลวง จนซวนเช บางรายล้มหายตายจาก หลายชีวิตในนั้นผันแปร
จากนักข่าว คอลัมนิสต์ บรรณาธิการ สู่ผู้บริหารธุรกิจข้อมูลข่าวสาร ถึงคราวเว้นวรรคพักหนึ่งเช่นกัน เมื่อปมค่อย ๆ คลาย “ผมนำความรู้ตกผลึกมาฟื้นฟูนิตยสาร ผู้จัดการ สื่อสิ่งพิมพ์ฉบับแรกของกลุ่มผู้จัดการ ให้มีบุคลิกเฉพาะสอดคล้องกับยุคสมัย ดีไซน์นิตยสารจากสื่อเก่า จากความคิดที่ผสมผสานและทันสมัย ด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างจำกัด เชื่อมเข้าสู่ยุคใหม่ ถือเป็นโมเดลผสมผสานอย่างกลมกลืน ระหว่างสื่อสิ่งพิมพ์กับอินเทอร์เน็ต” (บางส่วนของบทนำ หนังสือ INFORMATION ARCHITECT โดย วิรัตน์ แสงทองคำ 2551) จับภาพหัวเลี้ยวหัวต่อว่าด้วยภารกิจ (2542-2551) ในช่วงท้าย ๆ (ภาพ 1) ในนั้นปรากฏภาพหนึ่ง (ปกในของหนังสือ) ซึ่งสัมพันธ์กัน (ภาพ 2)


เวลานั้นมีกระแสพอเป็นกระสายในโลกตะวันตก เรียกว่า Telecommuting (พออ้างอิงได้กับหนังสือเล่มหนึ่ง Leonhard, Woody (1995). The Underground Guide to Telecommuting) อีกนานจากนั้น จึงขยายนิยามมาเป็น WORK FROM HOME หรือ WFH ปรากฏการณ์สำคัญระดับโลกยุค COVID-19
“..งานที่จำเป็นสำหรับบรรณาธิการสามารถทำที่บ้านได้” ผมกล่าวอย่างหนักแน่นไว้อย่างนั้น ช่วงต้น ๆ ยุคอินเทอร์เน็ตในสังคมไทย ด้วยความตั้งใจทำอย่างนั้น (อ้างอิงจาก “Telecommuting การทำงานบรรณาธิการพาร์ตไทม์” นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2542) “อยู่ชานเมืองทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ หลังบ้านติดกับทุ่งนา รอบ ๆ บ้านเพิ่งปลูกต้นไม้ มีทั้งสวนครัว ไม้ผลและไม้ไทยในวรรณคดี ห้องทำงานจึงอยู่ในบรรยากาศธรรมชาติซึ่งพยายามสร้างขึ้น .” อีกตอนบรรยายทำงานที่บ้านไว้ให้เห็นภาพ
วิถีชีวิตไม่ต้องใช้เวลาบนท้องถนน ไม่เสียเวลาปฏิบัติตน ไม่ค่อย Productive อยู่บ้างในที่ทำงาน ที่บ้านไม่เพียงงานอาชีพเป็นไปด้วยดี หากมีเวลาสานสัมพันธ์ครอบครัว และพอมีเวลาแห่งจินตนาการและสร้างสรรค์อีกบางสิ่งบางอย่าง
กับ “เวลากาแฟ” แล้ว เชื่อว่าในที่สุดไม่ได้เป็นไปอย่างดาด ๆ หากคือกระบวนการหนึ่งซึ่งใช้เวลา กว่าจะเป็นชิ้นส่วนแห่งไลฟ์สไตล์ ก่อเกิดการเรียนรู้แตกแขนง และสร้างแรงบันดาลใจสู่บททดลองใหม่ ๆ ขับเคลื่อนด้วย passion
จุดเริ่มต้นอย่างสามัญ เวลากาแฟที่บ้านแบบง่าย ๆ เชื่อมโยงระหว่างของใกล้มือมีอยู่ กับแบบแผนอาหารเช้าโรงแรม ตบท้ายกาแฟสักถ้วย จะเรียกว่าทำเองก็ได้ เครื่องทำกาแฟแบบนั้นอยู่ในบ้านมาสักพัก ไม่แน่ใจนักว่าเป็นของแถมหรือของฝาก จำได้ว่าเป็นแบรนด์ Princess ภาพประกอบอ้างอิงได้บ้าง หาได้จากต้นแหล่ง (https://www.princesshome.eu/) รูปแบบผลิตภัณฑ์เนเธอร์แลนด์ ดูคล้าย ๆ กันยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน (ภาพ 3) สามารถทำกาแฟได้ปริมาณพอควร ดื่มได้หลายครั้ง มีตัวกรองกาแฟ อุ่นตลอดเวลาด้วยระบบไฟฟ้า เรื่องราวง่าย ๆ นั้นกลายเป็นจุดเปลี่ยนเล็กน้อย จากลิ้มลองกาแฟสำเร็จรูป สู่กาแฟคั่วบด (ground coffee) เป็นครั้งแรก ๆ ขณะนั้นที่หาได้ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ปลูกกันมานานแล้วในภาคใต้

มีเวลาสลับบ้าง แวะเวียนเครือข่ายร้านกาแฟชื่อดังเพิ่งมาถึงเมืองไทย ณ ห้างใกล้ ๆ บ้าน ประสบการณ์ที่แตกต่างกระตุ้นให้ไปบ่อยขึ้นอยู่ระยะหนึ่ง ตามกระแสปลุกเร้าด้วยแผนการตลาดใหม่ ๆ อย่างเช่น Starbucks card (เริ่มใช้ในเมืองไทยปี 2548) นอกจากได้สัมผัสบรรยากาศ รสชาติที่ต่างออกไป วิธีทำแบบใหม่ ๆ เป็นภาพจำด้วย
จากจุดเริ่มต้นอย่างสามัญ สู่การเรียนรู้แบบมือใหม่ หลักฐานชิ้นหนึ่งซุกอยู่ในตู้เก็บของนานแล้ว-เครื่องทำกาแฟเอสเปรสโซ่ (Espresso machine) พิจารณาจากรุ่นและแบบ ทั้งไม่เคยอ้างอิงใน Facebook (เริ่มใช้ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2553) พออ้างได้ว่าเป็นเวลาซึ่งย้อนกลับไป ลองค้นข้อมูลอีกที พบมีการรีวิวสินค้าแบรนด์-รุ่นนี้ใน “พันทิป” เมื่อปี 2552 (ภาพ 4)

เครื่องทำเอสเปรสโซมีระบบและวิธีทำค่อนข้างซับซ้อน ด้วยเทคโนโลยีและประดิษฐกรรมของอิตาลีมีมากว่า 100 ปี พัฒนาอีกนานกว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์แบบใช้ไฟฟ้า เริ่มต้นในร้านกาแฟ ก็ล่วงมาถึงทศวรรษ 2500 เพิ่งแพร่หลายขยายวงเป็นสินค้าคอนซูเมอร์เมื่อราว 2 ทศวรรษมานี้ ว่ากันว่าแบรนด์คลาสสิกมีชื่อ ต้องเป็นอิตาลี สำหรับมือใหม่ยังไม่มีความรู้มากนักกลับเลือกใช้แบรนด์สวีเดน ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไปในบ้าน ขยายฐานผลิตภัณฑ์ตามกระแสสู่เครื่องทำกาแฟ ดูเข้ากันกับเครื่องบดกาแฟ ประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านด้วยเช่นกัน (ภาพ 5)

เพียงช่วงสั้น ๆ จากนั้นจึงมาถึง Moka pot (ภาพ 6-7) โมเดล และปีผลิตระบุไว้ ถือเป็นหลักไมล์ เป็นจุดเปลี่ยน และการตั้งหลักอย่างจริงจัง


วิรัตน์ แสงทองคำ คอลัมนิสต์ ธุรกิจอิสระ ด้วยวัตรปฏิบัติ 4 ทศวรรษกับผลงานนับพันชิ้น งานบางส่วนปรากฏใน https://viratts.wordpress.com/และ https://www.facebook.com/วิรัตน์-แสงทองคำ เบื้องหลังฉาก “เวลากาแฟ” ดำเนินไปเป็นกิจวัตร ด้วยเรื่องราวและความคิดที่แตกต่าง เพิ่งจะเปิดสู่วงกว้างครั้งแรก @Marketeer online
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ