เผยรายงานประจำปี Consumer trend 2024 โดย ยูโรมอนิเตอร์ เปิดเผยเทรนด์ที่มีเเนวโน้ม คาดการณ์แรงจูงใจในการช้อปปิ้ง และความต้องการของผู้บริโภคในปีหน้า เพื่อให้ธุรกิจสามารถติดตามสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการได้ทัน เเละวางเเผนข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ในการวางเเผนการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ และยุทธวิธีการดำนินธุรกิจ
โดยสรุปได้เป็น 6 เทรนด์หลัก ดังนี้
1. ไม่รู้อะไรก็ถามเอไอ (Ask AI)
ChatGPT มีผู้ใช้ถึง 100 ล้านคนภายในสองเดือนหลังเปิดตัวได้ไม่นาน นี่คือหลักฐานชี้ชัดว่า Generative AI ได้คืบคลานเข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคอย่างเต็มรูปแบบ ธุรกิจต่างต้องใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อยกระดับประสบการณ์ของลูกค้า
ในยุคที่อยากรู้อะไรก็ถาม AI เพราะเครื่องมือเหล่านี้สามารถผลิตเนื้อหาคอนเทนต์ได้มากมาย มีตั้งแต่การเขียนเชิงสร้างสรรค์ ไปจนถึงเพลง ดนตรี และศิลปะ ผ่านอัลกอริทึมขั้นสูง ทำให้มีแอปพลิเคชัน AI ใหม่ ๆ ปรากฏขึ้นต่อเนื่อง ผู้บริโภคเริ่มคาดหวังว่าแบรนด์ต่าง ๆ จะสามารถนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาผนวกกับการให้บริการได้
เทรนด์ Ask AI จะช่วยทำให้แบรนด์มีความได้เปรียบในการแข่งขัน หากใช้เครื่องมือมาช่วยเก็บดาต้า สังเคราะห์ข้อมูลผู้ใช้ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ สร้างประสบการณ์ผู้ใช้ที่โดดเด่น
ยกตัวอย่าง เช่น แชตบอตและผู้ช่วยเสียง ผู้บริโภคมากกว่า 40% รู้สึกสบายใจเมื่อได้รับผู้ช่วยแบบเสียงที่ให้คำแนะนำเฉพาะบุคคล
72% ของผู้บริโภคใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับคุณภาพชีวิตของตนในปี 2566
42% รู้สึกสบายใจกับระบบสั่งงานด้วยเสียงที่ให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคล
17% รู้สึกสบายใจที่จะใช้แชตบอตเพื่อแก้ไขปัญหาการบริการลูกค้าที่ซับซ้อน
53% ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าบริษัทของพวกเขาวางแผนที่จะลงทุนใน generative AI ในอีกห้าปีข้างหน้า
เคสตัวอย่าง
Google เปิดตัวฟีเจอร์ลองสวมเครื่องเเต่งกายเสมือนจริง โดยใช้เทคโนโลยี AI ช่วยให้ผู้ซื้อเห็นว่าเสื้อผ้ามีลักษณะอย่างไร เมื่อมาอยู่บนนางแบบที่มีรูปร่างและสีผิวต่างกัน
2. ขายด้วยความบันเทิง เอาสนุกสนานเข้าสู้ (Delightful Distractions)
เศรษฐกิจ ความไม่สงบทางการเมือง และภัยพิบัติทางสภาพอากาศ ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องการขจัด ความเครียดที่พบเจอในชีวิตประจำวัน ในปีหน้าลูกค้าจึงมองหาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยชดเชยความเร่งรีบและวุ่นวายในชีวิตประจำวันด้วยความบันเทิง ช่วยธุรกิจปรับปรุงการรับรู้แบรนด์ และความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า
73% ต้องต่อสู้กับความเครียดและความวิตกกังวล
55% กล่าวว่า พวกเขาซื้อสินค้าในร้านค้าที่สร้างประสบการณ์ที่น่าดึงดูด
29% จะรู้สึกสบายใจที่แบรนด์จะใช้ข้อมูลด้านอารมณ์ไปปรับแต่งประสบการณ์การขายให้เข้ากับความรู้สึกของลูกค้า
43% ของผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า บริษัทของพวกเขาใช้การเล่าเรื่องและข้อความที่น่าสนใจเพื่อสื่อสารผลิตภัณฑ์ใหม่ไปยังผู้บริโภค
คอนเทนต์การขายที่สร้างสรรค์ ตลกเฮฮา จะดึงดูดลูกค้าในปีหน้ามาก เพิ่มความสนุกสอดเเทรกในการขายเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจช่วยส่งเสริมได้ อย่ากลัวว่าภาพลักษณ์ของเเบรนด์จะตกลง เพราะด้วยสังคมที่เต็มไปด้วยความตึงเครียด การดึงดูดด้วยความเฮฮาจะช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกดีกับแบรนด์
รวมถึงสินค้าหรือคอลเลกชันที่มาในลุคสีสันสดใส จะดึงดูดความสนใจลูกค้าเป็นพิเศษในปีหน้า
เคสตัวอย่าง
ผู้ผลิตยานยนต์ FIAT หยุดการผลิตรถยนต์สีเทา เเล้วนำเสนอสีสดใสใหม่ เพื่อต้องการเป็นแบรนด์ที่สร้างสีสันบนท้องถนน แสดงถึงการมองโลกในแง่ดี
คำแนะนำธุรกิจ
– รวมข้อความเชิงบวกที่สนุกสนาน เข้ากับการโต้ตอบกับลูกค้าทุกระดับ
– เพิ่มสีสัน เอฟเฟกต์ภาพ หรือเสียงลงในการออกแบบผลิตภัณฑ์แบรนด์ เน้นดึงดูดประสาทสัมผัส
– สร้างช่วงเวลาที่น่าจดจำเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระว่างแบรนด์กับลูกค้า
3. รักษ์โลกต้องโปร่งใส (Greenwashed Out)
ผู้บริโภคยังคงเน้นย้ำถึงการเป็นเเบรนด์สีเขียว ตั้งคำถามถึงบรรทัดฐานของเเบรนด์ถึงการทำภาพลักษณ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะต้องตรวจสอบได้ เทรนด์ Greenwashed Out จะไม่ยอมเชื่อคำพูดปากเปล่าของแบรนด์
ธุรกิจจำเป็นต้องวัดการปล่อยก๊าซทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงห่วงโซ่ผลกระทบตั้งเเต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเเสดงความรับผิดชอบ และคาดหวังให้ในปีหน้าผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ต้องทำจากวัสดุรีไซเคิล เเต่ในความรักษ์โลกต้องทำสินค้าให้มีราคาเอื้อมถึงได้
เพราะผู้บริโภคตระหนักดีว่าการมีส่วนร่วมของแต่ละคนสามารถเปลี่ยนแปลงโลกไปในทางที่ดีได้ จึงพยายามปรับแต่งพฤติกรรมต่อสิ่งแวดล้อม ไปในเเง่ยั่งยืนมากขึ้น
64% พยายามสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการใช้ชีวิตประจำวัน
45% ของผู้บริโภครู้สึกว่าตนมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี 2023
45% ของผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า บริษัทของพวกเขาวางแผนที่จะลงทุนในการรับรองการเป็นแบรนด์สีเขียวในอีกห้าปีข้างหน้า
เคสตัวอย่าง
Chloé แบรนด์แฟชั่นสัญชาติฝรั่งเศสเปิดตัวโปรเจกต์ Vertical ในคอลเลกชั่นฤดูใบไม้ผลิ ใส่รหัสดิจิทัลบนแท็กให้ลูกค้าสแกนเพื่อตรวจสอบย้อนกลับได้ อีกทั้งยังร่วมมือกับแพลตฟอร์มการขายในการทำโปรแกรมหมุนเวียนพิเศษสำหรับสินค้าคอลเลกชั่นนี้
คำแนะนำธุรกิจ
– ซื่อสัตย์กับการวางตัวเป็นเเบรนด์สีเขียว มีหลักฐานที่ตรวจสอบเป็นรูปธรรมได้
– นำรายได้กลับมาลงทุนในผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งเเวดล้อมใหม่ ที่สามารถปรับราคาให้ถูกลงได้
4. คนอินกับอุดมการณ์ แบรนด์ต้องเเสดงจุดยืน (Progressively Polarized)
การเคลื่อนไหวทางสังคม การเมืองที่ยังไม่นิ่ง จะยิ่งทำให้ภูมิทัศน์แบบโพลาไรซ์มากขึ้นอีก ธุรกิจจำเป็นต้องรู้ทันหัวข้อที่สังคมยกมาพูดคุย เนื่องจากผู้บริโภคจะยึดมั่นในอุดมการณ์ความเชื่อของตน ไม่ยอมจ่ายเงินให้กับแบรนด์ที่มีความเห็นต่าง
พฤติกรรมแบบโพลาไรซ์ อธิบายง่าย ๆ คือ นักช้อปบางรายจะสนับสนุนแบรนด์ที่มีอุดมการณ์ หรือจุดยืนขององค์กรสอดคล้องกับตน ไม่สนใจความพยายามด้าน CSR และ ESG ที่เชื่อถือได้ยาก แบรนด์ต้องรู้วิธีสื่อสารถึงความพยายามของบริษัทอย่างมีกลยุทธ์
ก่อนที่จะแสดงจุดยืน บริษัทควรทำการวิจัยอย่างจริงจัง เพื่อพิจารณาว่าประเด็นทางสังคมหรือการเมืองมีอิทธิพลอย่างไรต่อการรับรู้ถึงแบรนด์และเส้นทางการซื้อ การจะเปิดแคมเปญหนึ่ง ๆ ในปีหน้า ต้องศึกษากันหนักขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความแตกแยก
อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถทำให้คนทุกกลุ่มพอใจได้ แบรนด์ที่ต้องการเป็นกระบอกเสียงต้องยอมรับทั้งความเสี่ยงและผลตอบแทนที่อาจเกิดขึ้น
34% ของผู้บริโภคแบ่งปันความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมหรือการเมืองบนโซเชียลมีเดีย
32% มีส่วนร่วมในประเด็นทางการเมืองและสังคมอย่างแข็งขัน
52% จะซื้อจากบริษัทหรือแบรนด์ที่พวกเขาไว้วางใจ
คำแนะนำธุรกิจ
– ใช้เครื่องมือ เช่น แพลตฟอร์มรับฟังทางสังคม เพื่อติดตามความรู้สึกเกี่ยวกับประเด็นข้อขัดแย้งที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของตนเอง
– ดำเนินการวิจัยกลุ่มเป้าหมายอย่างละเอียด ความเกี่ยวข้องทางการเมืองที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า
– ประเมินเอกลักษณ์และการรับรู้ของแบรนด์ก่อนที่จะแสดงจุดยืน ที่อาจทำให้ลูกค้าหลักแปลกแยก
5. ขอให้สินค้าเพิ่มคุณภาพมากขึ้น เเต่จะจ่ายเท่าเดิม (Value Hackers)
แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง แต่ผลกระทบที่ยังตกค้าง ทำให้ผู้ซื้อจะมองหาวิธีใหม่ ๆ ในการควักสตางค์ซื้อสิ่งที่ดีในราคาเท่าเดิม
ผู้บริโภคเกือบ 3 ใน 4 แสดงความกังวลเกี่ยวกับราคาที่เพิ่มขึ้นของสิ่งของในชีวิตประจำวัน
Value Hackers เป็นคำเรียกการกระทำที่พยายามลดงบซื้อเเต่ไม่กระทบต่อคุณภาพสินค้าที่จะได้ ธุรกิจจำเป็นต้องเสนอสิ่งจูงใจเพิ่มเติม ต้องเสนอโปรโมชัน การลดราคา ดีลสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างราคากับคุณภาพ ดึงดูด Value Hackers โดยเฉพาะ
74% ของผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนของสิ่งของในชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้นในปี 2566
44% ของผู้บริโภควางแผนที่จะประหยัดเงินมากขึ้นในปี 2566
อย่างไรก็ดี ราคาเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง มีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องคำนึงถึงอีกมาก เช่น การสื่อสาร เป็นสิ่งสำคัญมากหากนักช้อปไม่เข้าใจคุณค่าที่แบรนด์นำเสนอ ก็จะเปลี่ยนไปซื้อคู่แข่งหรือค้นหาทางเลือกอื่น ดังนั้น เเบรนด์จำเป็นต้องส่งเสริมข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อการตัดสินใจที่ถูกของลูกค้า
ตัวอย่างเคส
Lululemon ได้จัดงานป๊อปอัปในลอสแองเจลิส ที่ให้ผู้ซื้อสามารถแลกเปลี่ยนกางเกงเลกกิ้งที่ไม่ใช่ของ Lululemon ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
6. อะไรที่บอกว่าดีต่อสุขภาพ ต้องเห็นผลได้ทันที (Wellness Pragmatist)
ในปีหน้าผู้บริโภคจะมองหานวัตกรรมด้านสุขภาพและความงามที่ช่วยยกระดับทั้งจิตใจและร่างกาย ที่มีการรับรองด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าเห็นผลจริง ไม่เอ่ยสรรพคุณเลื่อนลอย
โดยต้องเป็นโซลูชันที่สะดวกสบาย ง่าย ใช้ความพยายามน้อย เเต่ต้องเห็นผลลัพธ์ทันที
เเม้จะไม่ได้คาดหวังการเปลี่ยนเเปลงในชั่วข้ามคืน แต่คาดหวังว่าต้องเกิดการเปลี่ยนเเปลงที่สังเกตเห็นได้ชัด แม้เป็นเพียงจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม ดังนั้น แนะนำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเเละความงามสร้างการตรวจสอบแบบเรียลไทม์ และนำเครื่องมือมาช่วยติดตามผู้บริโภค จากนั้นปรับแต่งแผนการรักษาทันท่วงที
ผู้บริโภคพร้อมที่จะทดลองนวัตกรรมใหม่ ๆ ถ้าหากว่าให้ผลลัพธ์ที่ต้องการได้
85% ของผู้บริโภคยินดีจ่ายมากขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่มีประสิทธิภาพหรือคุณประโยชน์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว
39% ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าบริษัทของพวกเขา วางแผนที่จะมุ่งเน้นไปที่กลยุทธ์ความงามเพื่อสุขภาพซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมในปี 2566
ที่มา: Euromonitor
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ