ย้อนไปในปี 2018 สองข่าวใหญ่ที่ชิงพื้นที่สื่อได้มากลำดับต้น ๆ ของโลกคือการ คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกสมัยที่สองของทีมชาติฝรั่งเศส และการพบกันครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างผู้นำสหรัฐฯ กับผู้นำเกาหลีเหนือที่สิงคโปร์

ทิ้งให้ข่าวการประชุมการท่องเที่ยวนานาชาติในเยอรมนีว่าด้วยปัญหาท่องเที่ยวมากเกินไปจนเมืองช้ำ (Overtourism) ไม่ได้รับความสนใจ และไม่มีใครเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้

ความสนใจในปัญหานี้ยิ่งลดลงไปอีกตลอดช่วงที่โลกติดล็อกดาวน์ระหว่างปี 2019-2022 ท่ามกลางภาวะซบเซาและทรุดหนักอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

แต่ในปี 2023 ที่โลกฟื้นสู่ภาวะปกติ และผู้คนกลับมาเดินทางไปมาหาสู่กันได้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็ฟื้นตัวอย่างเร็วเกินคาด จน Overtourism กลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมา

ประเทศที่กำลังได้รับผลกระทบจากปัญหานี้มากสุดคือญี่ปุ่น โดยหลักฐานล่าสุดคือนับตั้งแต่ 29 เมษายนนี้เป็นต้นไป ฝ่ายปกครองของเมืองฟูจิคาวาคูจิโกะ ในจังหวัดยามานาชิ

จะมีการติดตั้งรั้วตาข่ายบริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อ Lawson เพื่อกันการถ่ายรูปตัวร้านพร้อมทิวทัศน์ด้านหลังที่เป็นภูเขาไฟฟูจิ อย่างไร้ความรับผิดชอบจนการจราจรติดขัด และรบกวนทั้งการใช้ชีวิตของชาวเมืองและการทำธุรกิจของร้านค้าที่อยู่ใกล้เคียง

รั้วตาข่ายดังกล่าวสูง 2 เมตรครึ่งและยาว 20 เมตร และมีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ไปดูแลอีกด้วย โดยจะวางกั้นไว้จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

ด้านฝ่ายปกครองของเมืองฟูจิคาวาคูจิโกะ ระบุว่าเป็นมาตรการที่จำเป็น เพราะนักท่องเที่ยวมาสร้างความวุ่นวายในบริเวณดังกล่าวมากเกินไป และในกลุ่มนี้ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคารพกฎระเบียบต่าง ๆ เช่น จอดรถในที่ห้ามจอด

สำหรับ Lawson สาขานี้ แม้ไม่ต่างจากสาขาอื่นๆ ทั่วญี่ปุ่น แต่การตั้งอยู่หน้าภูเขาไฟฟูจิ สัญลักษณ์สำคัญของญี่ปุ่น ทำให้กลายเป็นจุดถ่ายรูปยอดนิยมของนักท่องเที่ยว

จนมีการกล่าวกันว่าเป็น Lawson สาขาที่วิวสวยที่สุดและเมื่อภาพไปปรากฏบนสื่อโซเชียลและสื่อออนไลน์ก็ทำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกต่างอยากมาถ่ายรูปบ้าง

แม้นี่ส่งผลดีต่อตัวสาขานี้ที่ยังเปิดได้ท่ามกลางการปิดไปของสาขาอื่น ๆ จากปัญหาสังคมสูงวัยเต็มขั้น (Super aging society) และช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ยังเมืองฟูจิคาวาคูจิโกะ ของจังหวัดยามานาชิ

ที่มีประชากรเพียงหลักหมื่น แต่จำนวนนักท่องเที่ยวก็มากเกินไปจนก่อปัญหา Overtourism ขึ้นตามที่เป็นข่าว

Overtourism ยังเกิดขึ้นกับแหล่งท่องเที่ยวดัง ๆ ของญี่ปุ่นอีกหลายแห่ง จนฝ่ายปกครองในท้องที่ต่างต้องหาทางแก้ไขมาตั้งแต่ปี 2023 เช่น เกาะมิยาจิมะ ที่เก็บค่าเหยียบแผ่นดินกับนักท่องเที่ยวที่ไปชมเสาโทเรอิ

ฝ่ายดูแลรักษาภูเขาไฟฟูจิ ที่ปิดไม่ให้เข้าชมชั่วคราวหลังนักท่องเที่ยวมากไป จนจัดการเรื่องคนและขยะไม่ไหว เมืองคามาคูระ ที่จัดกำลังเจ้าหน้าที่ไปดูแลการถ่ายรูปบริเวณทางรถไฟและสามแยกหน้าชายหาดของแฟน ๆ การ์ตูน Slamdunk

และการห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปในแถบกิออน ของเมืองเกียวโต เพื่อไม่ให้ไปสร้างความวุ่นวายต่อกลุ่มเกอิชา

ประเด็นที่เกี่ยวกับ Overtourism ที่ต้องจับตามองจากนี้มี 2 ประเด็น ประเด็นแรก คือ Overtourism จะกระจายไปอีกมากแค่ไหนเพราะคนทั่วโลกต่างอยากไปท่องเที่ยวกันมากขึัน หลังอัดอั้นมานานช่วงล็อกดาวน์

ถึงขนาดมีการกล่าวกันว่านี่ไม่ต่างจากการเที่ยวเพื่อล้างแค้น และในจำนวนนี้บางส่วนยังเป็นนักท่องเที่ยวที่พฤติกรรมแย่ (Bad Tourist) เสียด้วย

ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวไหนปรากฏบนสื่อออนไลน์มาก ๆ ก็จะเกิดการแห่ตามกันไปถ่ายรูป เหมือนกรณี Lawson หน้าภูเขาไฟฟูจิในญี่ปุ่น

ส่วนประเด็นที่สองคือ ฝ่ายปกครองเมืองและประเทศต่าง ๆ จะออกมาตรการป้องกัน Overtourism อย่างไร โดยนอกจากเอารั้วมากั้นเช่นในญี่ปุ่นแล้ว

ยังมีการเก็บค่าเข้าหรือค่าเหยียบแผ่นดิน เช่น ที่เวนิส และบาหลีประกาศใช้ ขึ้นค่าเหยียบแผ่นดินพร้อมรวมค่าอาหารและที่พักต่อวันแล้วในภูฏาน

หรือแม้กระทั่งการห้ามสร้างโรงแรมแห่งใหม่ในกรุงอัมสเตอร์ดัมของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์อีกด้วย/theguardian

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online